ReadyPlanet.com


เป็นพยาบาลค่ะ มีปัญหาความไม่เป็นธรรมในเรื่องการถูก off เวร แล้วจ่ายโอทีไม่ครบค่ะ


เป็นพยาบาลค่ะ มีปัญหาเรื่องการถูก off เวร  จ่ายโอทีไม่ครบค่ะ

คือในช่วงที่้โรงพยาบาลต้องการพยาบาลทำงานก็จะให้เราขึ้นเวรเป็น ot เดือนหนึ่งขึ้น ot ไปได้ห้าหกเวร ก็จ่ายโอทีให้ดิฉันแค่ 2 เวร ที่เหลือก็ค้างเอาไว้  พอค้างเยอะเข้าก็ให้เรา off เวร จ่ายโอทีเราไม่ครบอ้างว่าคนเกินงานน้อยก็ออฟเราที่ค้าง ot เยอะ

บางเดือนออฟเวรจนโอทีดิฉันหมดเลย เดือนก่อนดิฉันขึ้นเวร ot เหนื่อยแทบตายจ่ายโอทีแค่สองเวร โรงพยาบาลจ่ายโอทีให้เราไม่ครบ

ส่วนที่ค้างไว้ก็เอามาออฟเวรเราเดือนนี้อีกจน ot ที่ค้างไว้หมดเลย เดือนนี้เราก็ไม่ได้โอทีที่ค้างไว้เลย

วันที่โดนออฟจะไปทำอะไรก็ไม่ได้เพราะต้องสแตนบายอีก เผือนฉุกเฉินอาจโดนเรียกขึ้น จะไปทำ part time ข้างนอกก็ไม่ได้ เป็นวันว่างที่ทำอะไรไม่ได้เลย

บางเดือนโดนออฟจนเวรเกินต้องมาขึ้นเวรใช้หนี้ในเดือนต่อไปอีก คือขึ้นเวรไปก็ไม่เป็น ot แล้วเพราะใช้หนี้เดือนที่ออฟเวรจนเวรเกิน

มีปัญหากับระบบแบบนี้มากเลย

พอฉุกเฉินต้องการคนก็เรียกเราขึ้นโอที แต่ขึ้นไปแล้วก็ค้างโอทีเรา แ้ล้วพอไม่ต้องการพยาบาลก็ออฟเวรเราจนไม่ต้องจ่ายโอทีเรา ออฟจนเวรเกินก็เรียกเรามาขึ้นเวรใช้หนี้อีก เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไรค่ะ

อยากทราบว่าในส่วนนี้ผิดกฎหมายรึเปล่าคะ

พอจะมีหลักกฎหมาย หรืออะไรไปอ้างได้ไหมคะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ พยาบาลค่ะ :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-22 09:51:01


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3131749)

                      ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน นายจ้างจะสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานโดยลูกจ้างไม่เต็มใจไม่ได้และนายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ให้หยุดนั้นไม่ได้เพราะไม่ใช่กรณีจ้างเป็นรายวัน ซึ่งจะไม่ได้ค่าจ้างในวันที่ไม่ได้ทำงาน โดยต้องพิจารณาตามสัญญาจ้างเป็นกรณีไป  การที่นายจ้างให้ลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้างฝ่ายเดียว ตามความพอใจของนายจ้าง โดยลูกจ้างไม่เต็มใจย่อมเป็นการผิดสัญญาจ้าง  เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัยตามกฎหมาย( ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยของนายจ้าง ) หรือเป็นกรณีที่หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา ๗๕ แห่ง  พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน ๒๕๔๑  ซึ่งกำหนดให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างในวันที่สั่งหยุดได้ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างได้  แต่หากเป็นกรณีนอกจากที่กล่าวนี้แล้ว นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเต็มจำนวน และไม่อาจนำไปหักกับค่าทำงานในวันหยุดที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับอยู่ก่อนแล้วได้  กรณีจะถือว่าลูกจ้างมีหนี้ที่จะต้องปฎิบัติงานให้แก่นายจ้างอีกไม่ได้   แต่นายจ้างยังเป็นฝ่ายที่จะต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนในวันที่สั่งหยุดไปนั้นด้วย นายจ้างจะนำค่าทำงานในวันหยุดของลูกจ้างมาหักหนี้หรือหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดไม่ได้

 

                                การที่นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่มีปริมาณงานน้อยหรือเหตุอื่นใดเพื่อประโยชน์ของนายจ้างเอง และเพื่อการบริหารงานของนายจ้างเองนั้น  ไม่เข้ากรณีหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 75 และไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จะอ้างกฎหมายได้  นายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเต็มจำนวน ในวันที่ตนสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานไปนั้น   เมื่อลูกจ้างไม่ได้มาทำงานในวันดังกล่าวก็เนื่องมาจากนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานไปเอง โดยมิใช่ความผิดของลูกจ้าง  ซึ่งลูกจ้างมิได้เต็มใจที่จะต้องหยุดงาน และเหตุที่ให้ลูกจ้างหยุดงานนั้นก็ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามกฎหมาย และปราศจากมูลเหตุอันนายจ้างจะอ้างกฎหมายได้  การสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้างฝ่ายเดียวนั้นย่อมกระทำไม่ได้  กรณีจึงเป็นความผิดของนายจ้างเอง  เป็นเรื่องที่นายจ้างผิดสัญญาจ้าง  หาใช่เหตุที่จะเอากรณีนี้มาผลักภาระให้ลูกจ้างต้องรับผิดชอบ ในวันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานดังกล่าวได้  เมื่อไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างและลูกจ้างไม่เต็มใจหรือให้ความยินยอมในการนี้ แต่ถูกสภาพบังคับของนายจ้างให้หยุดงานไปเช่นนั้น  นายจ้างจึงไม่สามารถบังคับให้ลูกจ้างต้องมาทำงานในวันอื่นแทนวันหยุดดังกล่าว หรือจะเปลี่ยนวันทำงานของลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้  เมื่อนายจ้างเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง โดยให้ลูกจ้างหยุดงานไปเอง เพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว อันไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามกฎหมาย และปราศจากมูลเหตุอันนายจ้างจะอ้างกฎหมายใดได้ นายจ้างจึงต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างในวันที่ตนสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานไปนั้น


                                กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันอื่นแทนวันที่นายจ้างให้หยุดเพื่อประโยชน์ของนายจ้างฝ่ายเดียวดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซ้ำร้ายกว่านั้นการที่นายจ้างให้สะสมวันที่ตนสั่งหยุดดังกล่าวไว้โดยให้เป็นเวรเกิน เพื่อประโยชน์ของนายจ้างในการที่จะได้นำมากำหนดให้ลูกจ้างต้องมาทำงานในวันอื่นแทน โดยจัดให้ลูกจ้างต้องมาทำงานในเดือนถัดไปเกินกว่าจำนวนวันทำงานที่กฎหมายกำหนดไว้  เสมือนเป็นการให้ลูกจ้างใช้หนี้งานของตน  เพื่อหลีกเลี่ยงการคำนวนจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย  อันเป็นการไม่กำหนดค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา ๖๒ นอกจากนี้การที่นายจ้างนำวันหยุดดังกล่าวไปหักชำระค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือประโยชน์อื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับอยู่ก่อนแล้ว ยังเป็นการกระทำอันที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ คุ้มครองแรงงานมาตรา ๗๖ ด้วย การกระทำดังกล่าวนอกจากจะผิดกฎหมายตามที่กล่าวแล้ว ยังแสดงออกถึงการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ของนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิที่ลูกจ้างควรจะได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นการเอาเปรียบลูกจ้างและทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งมุ่งหมายจะให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้าง

 

 

                ลูกจ้างที่ถูกกระทำละเมิดดังกล่าวจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายจ้างรับผิดชำระค่าจ้างเต็มจำนวนในวันที่ถูกสั่งให้หยุดงานโดยไม่เต็มใจนั้น และให้ยกเลิกเวรเกินที่สะสมไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังสามารถเรียกให้นายจ้างชดใช้ค่าทำงานในวันหยุดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับอยู่ก่อนหน้านี้ซึ่งนายจ้างได้หักออกไปโดยไม่ถูกต้องดังกล่าวนี้ด้วย

 

 

                ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับค่าทำงานในวันหยุด (OT) มีหลักกฎหมายดังนี้

                เมื่อลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดตามคำสั่งของนายจ้าง ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด ในอัตราไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๖๒ โดยให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานให้วันหยุดตามกำหนดเวลาในมาตรา ๗๐ และห้ามนายจ้างหักค่าทำงานในวันหยุดเว้นแต่กรณีตามมาตรา ๗๖

 

                จากหลักกฎหมายดังกล่าว เห็นว่า  การที่นายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันอื่นแทนวันทำงานที่นายจ้างสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้างเองดังกล่าวข้างต้น  โดยนายจ้างได้นำเงินค่าทำงานในวันหยุด ( OT) ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับอยู่ก่อนแล้ว เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราตามที่กำหนดในมาตรา ๖๒ ไปหักกับวันที่นายจ้างสั่งให้หยุดงานเองดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน  และถึงแม้ว่าจะเป็นกรณีที่ลูกจ้างให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเช่นว่านั้นได้  ก็จะเห็นได้ว่า นายจ้างทำการหักเงินค่าทำงานในวันหยุดโดยไม่ถูกต้องด้วย

 

               

 

                กล่าวคือ นายจ้างเอาค่าจ้างในวันทำงานปกติไปหักกับเงินค่าจ้างทำงานในวันหยุด ซึ่งมีอัตราไม่เท่ากัน โดยกฎหมายกำหนดให้ค่าทำงานในวันหยุดมีอัตราสูงกว่าค่าจ้างในวันทำงานปกติ  หากจะถือว่าเป็นการหักกลบลบหนี้กันแล้ว ( ในกรณีที่ออฟเวรเพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและลูกจ้างเต็มใจ ) ก็จะต้องมีเงินส่วนต่างของค่าทำงานในวันหยุดซึ่งมีอัตราสูงกว่าค่าจ้างปกติ และเงินส่วนต่างนี้ นายจ้างก็จะต้องคืนแก่ลูกจ้างด้วย    เมื่อนายจ้างไม่คืนให้ แต่กลับนำไปหักกับวันที่เป็นเวรเกินโดยไม่คำนวนส่วนต่างของค่าทำงานในวันหยุดให้ จึงเป็นการคำนวนค่าทำงานในวันหยุดโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  เมื่อนายจ้างไม่คำนวนอัตราค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา ๖๒ และยังหักค่าทำงานในวันหยุดนอกเหนือจากกรณีตามมาตรา ๗๖ นอกจากนี้การที่นายจ้างไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุด (OT ) ให้ลูกจ้างหรือจ่ายให้เพียงบางส่วนแล้วสะสมไว้เพื่อนำไปหักกับวันเวรที่นายจ้างสั่งให้หยุดเพื่อประโยชน์ของนายจ้างเองนั้น จึงเป็นการไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามกำหนดเวลาในมาตรา ๗๐  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกรณีที่นายจ้างกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น

 

 

                โดยการกระทำของนายจ้างทั้งหมดดังกล่าวนี้ นอกจากจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งและคืนเงินจำนวนที่นายจ้างหักเงินลูกจ้างโดยไม่ถูกต้องดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างแล้ว  นายจ้างยังต้องรับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 144 ด้วย

 

                มาตรา 144  นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10 มาตรา 22 มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 39 มาตรา 40 มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 46 มาตรา 47มาตรา 48 มาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 61 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 67 มาตรา 70 มาตรา 71 มาตรา 72 มาตรา 76 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 95 มาตรา 107 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง ไม่จ่ายค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 121 วรรคสอง หรือมาตรา 122  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 39 มาตรา 42 มาตรา 47 มาตรา 48 มาตรา 49 หรือมาตรา 50 เป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

                                สรุปว่า..  หากนายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม  มาตรา 62    มาตรา 70   มาตรา 76   ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ไม่มีใครตอบ เลยลองตอบดู ไม่รู้จะเห็นด้วยไหม วันที่ตอบ 2009-11-24 20:37:45


ความคิดเห็นที่ 2 (3132443)

นายจ้างปฏิบัติผิดกฎหมาย การทำงานล่วงเวลาต้องจ่ายค่าจ้างทำงานล่วงเวลาไม่อาจหยุดงานวันอื่นแทนได้

ผู้แสดงความคิดเห็น webmaster วันที่ตอบ 2009-11-27 06:21:50


ความคิดเห็นที่ 3 (3314612)

ที่ตอบมาใช่นักกกหมายหรือเปล่าว ชื่อถือได้มากน้อยขนาดไหน

ผู้แสดงความคิดเห็น พยาบาล วันที่ตอบ 2013-11-15 16:39:16



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.