ReadyPlanet.com


ถูกลดตำแหน่ง โดยไม่มีความเกี่ยวกับงาน


เนื่องจากผมได้ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นมาแล้ว 4 ปี แรกๆทำงานด้วยดีมาตลอดต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารญี่ปุ่น แล้ว ญี่ปุ่นมีความขัดแย้งกับเจ้านายเก่า เลยพลอยไม่ชอบเราไปด้วย พอญี่ปุ่นเด็ดนายเก่าเราไป แล้วก้อหาจังหวะเล่นงานเรามาตลอด สั่งงานข้ามหัว ไม่มอบหมายงาน แต่ก็ทนหวังว่าญี่ปุ่นคงจะหมดสัญญาแล้วกลับบ้านมันไป แต่ มาครั้งนี้ เคยเรียกไปว่าจะตัดค่าเทคนิค จากนั้นมันก็ไปศึกษากฏหมายแล้วคงทำไม่ได้ ครั้งนี้มาลดตำแหน่งลง จากผู้จัดการแผนก มาเป็น ผู้ช่วยในแผนกอื่น ... ความรู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับ และจำต้องยินยอมเซ็นต์เอกสารไปด้วยความไม่เต็มใจและกดดันในวันที่ 20-12-07 ด้วยกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้งในเรื่องอื่นๆอีก เช่นไม่จ่ายโบนัสที่จะมีวันที่ 25-12-07 นี้ ...ขอถามเป็นข้อๆนะคับ ...

1.  ผมอยากฟ้องศาล เรียกร้องความเป็นธรรม ขออำนาจให้จ้างออก จะได้มั๊ยครับ แล้วระยะเวลานานหรือเปล่า แล้วผมต้องทนอยู่เป็นพนักงานจนเรื่องจบหรือเปล่า เพราะต้องโดนแรงกดดันมหาศาลแน่ๆ ไม่อยากอยู่ครับ

2. การเซ็นต์เอกสารของบริษัทไป แต่ด้วยความกดดันไม่เต็มใจ และเกรงกลัวในการกลั่นแกล้งไม่จ่ายโบนัส ผมสามารถมีทางออกหรือเปล่าครับเซ็นต์ไปแล้วมีผลมากน้อยแค่ไหน ...

3.  การจ้างออกผมจะได้รับสิทธฺอะไรบ้างครับถ้าอายุงาน 4 ปี

4.  เงินสะสมของบริษัทที่สบทบให้ แต่ มีเงื่อนไขว่าต้องออกอย่างถูกต้องผมจะได้รับหรือเปล่าครับ ....

5. มีข้อแนะนำ หาทางออก ข้อได้เปรียบใดๆบ้างครับสำหรับผู้ถูกเอาเปรียบแบบนี้..



ผู้ตั้งกระทู้ คนไทยถูกญี่ปุ่นเหยียบ... :: วันที่ลงประกาศ 2007-12-21 15:40:39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1337888)

ตอบ "คนไทยถูกญี่ปุ่นเหยียบ"

คำถาม 1. การฟ้อง  คุณสามารถฟ้องต่อศาลแรงงานได้   แต่ไม่เรียกว่าฟ้องขอให้จ้างออก    เพราะไม่มีข้อกฎหมายรองรับเรื่องนี้   แต่คุณสามารถฟ้องร้องขอให้บริษัทฯ ยกเลิกคำสั่งลดตำแหน่งและให้ศาลสั่งให้บริษัทฯ จัดให้คุณไปอยู่ในตำแหน่งเดิม  มีหน้าที่เดิม   และต้องจ่ายสภาพการจ้างเท่าเดิมทุกประการ      ทั้งนี้  ในการฟ้องศาลอาจพิจารณาแล้วเห็นว่าทั้งสองฝ่ายไม่น่าจะทำงานด้วยกันต่อไปได้อย่างราบรื่น  อาจเจรจาไกล่เกลี่ย   (การไกล่เกลี่ยเป็นขั้นตอนของศาลแรงงาน) ให้บริษัทฯ ยอมจ่ายเงินตามสิทธิของกฎหมายให้คุณแล้วคุณก็ลาออกไปก็ได้      แต่ในระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลแรงงานคุณก็ยังคงต้องทำงานต่อไปเช่นเดิม   พยายามไม่ให้เกิดเรื่องที่บริษัทฯ สามารถถือเป็นความผิดจากการกระทำของคุณเพื่อไปใช้เลิกจ้างคุณได้         สำหรับระยะเวลาในการฟ้องร้องก็แล้วแต่ผู้พิพากษาว่าท่านมีวันว่างมากน้อยเพียงใด    คำนวณว่าในขั้นตอนของศาลแรงงาน (ชั้นต้น)  น่าจะอยู๋ระหว่าง 6 - 12 เดือน

คำถาม 2.คุณไม่ต้องกังวล   การเซ็นต์เอกสารดังกล่าว   น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อคุณในฐานะลูกจ้าง   อย่างไรก็ตาม   ในเรื่องนี้  เป็นเรื่องที่ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียดว่า    ข้อเท็จจริงในการพูดคุยเจรจาให้มีการเซ็นต์หนังสือยินยอมนั้น   เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง    จึงจะวินิจฉัยข้อกฎหมายได้ถูกต้อง ชัดเจน

คำถาม 3.ค่าชดเชย  ตามมาตรา 118  แห่งพรบ. คุ้มครองฯลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี  มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย ในอัตราไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน  (หรือ 6 เดือน)     ประการสำคัญ  ค่าชดเชย   นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิดตาม มาตรา 119  แห่งพรบ.คุ้มครองฯ    หากลูกจ้างมีความผิดหรือลูกจ้างลาออกเอง   นายจ้างไม่ต้องจ่าย

คำถาม 4.เงินสะสม (ที่บริษัทฯ จ่ายสมทบ)  ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของข้อบังคับกองทุนฯ   ซึ่งต้องพิจารณาว่า หากพนักงานถูกเลิกจ้าง   จะได้รับหรือไม่   หรือต้องเป็นกรณีที่ถูกเลิกจ้างเพราะกระทำความผิด จึงจะไม่ได้รับ   เหล่านี้มีผลในทางกฎหมายต่างกัน    เช่นเดียวกันกับกรณีที่คุณลาออก ก็ต้องไปดูข้อบังคับกองทุนฯ เช่นกันว่า  คุณมีสิทธิได้หรือไม่

สำหรับคำถาม 5. นั้น    การดำเนินการต่างๆ หรือการแก้ไขต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงโดยละเอียด    หากไม่ทราบข้อเท็จจริงโดยละเอียดแล้ว   ให้คำแนะนำไปอาจนำไปใช้แล้วไม่เกิดผลดีได้  ดังนั้น  ขอแนะนำในเบื้องต้นว่า   หากต้องการคำปรึกษาทางด้านกฎหมายจริงๆ  ขอให้ติดต่อทางสำนักงานสมบัติ ลีกัล จำกัด  ตามที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ข้างต้นได้

22-12-2007

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้ช่วยฯ วันที่ตอบ 2007-12-22 13:26:54



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.