ReadyPlanet.com


เคลมภาษีคืนได้หรือไม่


พ่ออายุ72แม่อายุ58และไม่มีรายได้แล้วทั้งคู่ ในปี50ได้รับค่าชดเชยการเสียชีวิต+ค่าทำศพของลูกชายเนื่องจากการทำงาน ประมาณ5แสนบาท ทั้งนี้ถูกหักภาษีแบบรับเงินทั้งก้อนเรียบร้อยไปแล้ว2หมื่นกว่าบาท  ต่อจากนั้นเอาเงินไปบริจาคทำอุโบสถและมีใบเสร็จอนุโมทนาบัตร มีคำถามดังนี้

1.ถือว่าพ่อแม่เป็นผู้มีรายได้ระหว่างปีหรือไม่(เจ้าหน้าที่แรงงานพื้นที่1กล่าวเช่นนั้น)

2.สามารถนำมาขอคืนภาษีได้หรือไม่

3.เป็นกฎหมายที่หาประโยชน์จากคนตาย สามารถร้องเรียนได้หรือไม่ ที่ไหน

ขอบคุณคะ

จากผู้สูญเสีย



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สูญเสีย :: วันที่ลงประกาศ 2008-02-05 11:46:51


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1510376)

ตอบผู้สูญเสีย

ก่อนอื่นคงต้องแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียไว้ ณ ที่นี้ด้วย   และคงต้องขอแก้ไขความเข้าใจไปพร้อมกันด้วยว่า  กฎหมายไม่ได้หาประโยชน์จากผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วแต่อย่างใด   เพียงแต่ก่อนตาย  ผู้ตายมีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษี  กฎหมายก็ทำหน้าที่เก็บภาษีจากเงินดังกล่าวเท่านั้น   เพราะไม่ว่าจะอยู่หรือตาย  ผู้มีเงินได้  ล้วนแต่มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีทั้งสิ้น   สำหรับผู้ที่ได้รับมรดกจากผู้ตาย  ต้องเสียภาษีหรือไม่   เราจะมาทำความเข้าใจเป็นลำดับไป  ดังนี้

จากคำถาม  ขอตอบเป็นรายข้อดังนี้

1.ขอตอบว่า   พ่อแม่ (ผู้รับมรดก)  เป็นผู้มีเงินได้ระหว่างปีจริง

แต่กฎหมายประมวลรัษฎากร  มาตรา 42 (16)  บัญญัติไว้ว่า  เงินได้ที่ได้รับจากกองมรดก  ซึ่งต้องเสียภาษีตามความในมาตรา 57 ทวิ   กฎหมายบัญญัติให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้   

นั่นหมายความว่า   ตามมาตรา 57 ทวิ    ผู้มีเงินได้ (ผู้ตาย)  ที่ได้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี   และยังไม่ได้ทำหน้าที่เสียภาษี ในเงินได้ที่มีก่อนและหลังเสียชีวิต  กฎหมายก็ยังถือว่าเขาผู้นั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในเงินได้ที่ได้รับทั้งก่อนและหลังเสียชีวิต   แต่เมื่อเสียชีวิตแล้วจึงไม่สามารถทำการเสียภาษีได้ด้วยตนเอง   กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้จัดการมรดก,  ผู้ครอบครองทรัพย์มรดก   ฯลฯ  ทำหน้าที่ยื่นแบบแสดงภาษี และเสียภาษีแทนผู้ตาย   โดยนำเงินได้ทั้งหมดของผู้ตาย (รวมถึงกองมรดกของผู้ตาย)  มาคำนวณภาษี   และเสียให้แก่รัฐ   (เฉพาะปีที่ตายเท่านั้น)

เมื่อมีผู้เสียชีวิต   หากผู้เสียชีวิตดังกล่าวมีทรัพย์สิน   ก็ถือว่ามี "มรดก"   และถึงแม้ว่า  "กองมรดก" ที่ยังไม่ได้แบ่ง  ไม่ได้มีฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย   แต่ประมวลรัษฎากรก็กำหนดให้เป็นหน่วยหนึ่งที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา   ถ้าในปีถัดไปหลังจากที่เจ้ามรดก (ผู้มีเงินได้ที่แท้จริง)  ถึงแก่ความตาย และมีการแบ่งมรดกแล้ว  ก็จะส่งผลให้กองมรดกนั้นสลายไปไม่มีฐานะเป็นหน่วยที่ต้องเสียภาษี   อีกทั้งทายาทที่ได้รับส่วนแบ่งมรดกนั้นๆ ไป   ก็จะกลายเป็นผู้มีเงินได้แทน    แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ได้คำนึงถึงว่า   ก่อนแบ่งมรดก   กองมรดกดังกล่าวได้ถูกคำนวณภาษีไปเรียบร้อยแล้ว   จึงกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีของผู้รับมรดก ที่เสียภาษีไปแล้วดังกล่าว  เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษี    จึงยกเว้นให้ไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการแบ่งมรดกตามมาตรา 42 (16) มาคำนวณเสียภาษี

2.ขอคืนภาษีได้   เพราะถือเป็นขั้นตอนในการเสียภาษีแทนผู้ตาย   เพราะหากผู้ตาย (เจ้าของเงินได้) มีส่วนลดหย่อนภาษีใดๆ ก็สามารถนำไปแสดงต่อกรมสรรพากรได้   และหากผู้ตาย (เจ้าของเงินได้)  ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วมากกว่าภาษีที่ต้องเสีย   ก็สามารถขอคืนภาษีได้ตามขั้นตอนของกรมสรรพากร

3.ตามที่ได้ตอบไปในข้อ 1และข้อ 2  จะเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้หากประโยชน์จากคนตายแต่อย่างใด 

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้ช่วยฯ วันที่ตอบ 2008-02-08 11:20:55



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.