ReadyPlanet.com


พนักงานลาป่วย


พนักงานขับรถของบริษัทป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท มีอาการปวดและชาที่ขาอย่างมาก สาเหตุเกิดจากไปออกกำลังยกน้ำหนักในยิมแล้วเกิดบาดเจ็บ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจวินิจฉัยให้รักษาโดยการผ่าตัด และได้ผ่าไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา

เมื่อเขียนใบลาป่วยก่อนไปผ่าตัดบริษัทฯให้พนักงานผู้นี้ขอใบรับรองจากแพทย์ว่าจะทำการผ่าตัดและจะให้หยุดงานนานเท่าไรมาประกอบการเขียนใบลาป่วย พนักงานแจ้งว่าแพทย์ออกใบรับรองให้เพียงว่ามาทำการรักษาที่รพ.ตำรวจจริง ไม่ออกใบรับรองว่าจะเข้ารับการผ่าตัดให้รวมทั้งไม่สามารถบอกได้ว่าจะให้หยุดงานกี่วันจนกว่าจะผ่าตัดแล้ว พนักงานได้เขียนใบลาป่วยโดยใช้วันลาป่วยที่เหลืออยู่ทั้งหมด(ตามข้อบังคับบริษัทฯ พนักงานลาป่วยได้ปีละไม่เกิน 30 วันทำการ) ลาตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน รวมหนึ่งเดือนพอดี 

หลังจากผ่าตัดและไปตรวจตามอาการอีกครั้ง พนักงานนำใบรับรองแพทย์มายื่นที่บริษัทฯ ปรากฏว่าแพทย์ระบุให้พนักงานหยุดพักงานเพียงสิ้นเดือนตุลาคม แต่ห้ามขับรถจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน

กรณีเช่นนี้จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า

1.  ถ้ายึดข้อความในใบรับรองแพทย์ที่ให้หยุดงานเพียง 30 ตุลาคมเป็นหลัก พนักงานสามารถยกเลิกวันลาป่วยที่เขียนใบลาไว้ก่อนไปผ่าตัดได้ใช่หรือไม่

2.  พนักงานมีหน้าที่หลักคือการขับรถ หากแพทย์อนุญาตให้มาทำงานแต่ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มเช่นนี้ บริษัทฯควรพิจารณาอย่างไร

3.  บริษัทฯเป็นบริษัทฯเล็กๆ ไม่ได้มีงานอื่นที่อยู่ในวิสัยหรือสติปัญญาความสามารถที่พนักงานจะทำได้ให้ทำ ประกอบกับสภาพร่างกายพนักงานเองก็ยังมีข้อจำกัดและอยู่ในภาวะที่ต้องระมัดระวังอยู่มาก บริษัทฯควรพิจารณาอย่างไร

ทั้งสามประการนี้ยังไม่รวมถึงข้อพิจารณาในระยะยาว ว่าหากสภาพร่างกายของพนักงานยังไม่อยู่ในภาวะที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่โดยปลอดภัย บริษัทฯควรคิดอย่างไร

จึงเรียนมาเพื่อขอคำแนะนำด้วยจักเป็นพระคุณยิ่งค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ศิริพงษ์ :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-02 09:52:34


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3071064)

1. การลาป่วยพนักงานสามารถลาป่วยเท่าที่ป่วยจริง หากแพทย์ให้หยุดพักเพียง 30 ตุลาคม หลังจากนั้นก็มาทำงาน ถือว่าวันลาป่วยนั้นสิ้นสุดลง ณ วันที่พนักงานเริ่มมาทำงาน วันลานับวันที่หยุดงานจริง ยกเว้นพนักงานยังไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติ ก็สามารถลาป่วยเพิ่มเติมได้ คงไม่ต้องทำเรื่องยกเลิกอะไร เพียงบันทึกไว้เท่านั้น

2. บริษัท ควรพิจารณาหางานอื่นให้ทำนอกเหนือจากงานขับรถ เช่น การตรวจสภาพรถก่อนออกปฏิบัติงาน การทำงานเอกสาร หรืองานเบาๆในสำนักงาน เช่นงานถ่ายเอกสาร หรืองาน ที่ไม่ต้องขับรถ 

3. บริษัทเล็กใหญ่คงไม่สำคัญเท่ากับ เวลาที่พนักงานสามารถทำงานให้เราได้ เราก็ใช้เขาเต็มที่แต่เวลาที่เขาทีความจำเป็นไม่สามารถทำงานให้เราได้เต็มที่ เราก็เห็นว่าเขาไม่มีประโยชน์แล้ว ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องนัก ตามหลักการของมนุษยธรรมและแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ควรช่วยเหลือพนักงานจนกระทั่งเห็นว่าในที่สุดก็ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ในหน้าที่ของตนเอง ค่อยพิจารณาที่จะดำเนินการอย่างอื่น จะดีกว่า

ผู้แสดงความคิดเห็น ที่ปรึกษา วันที่ตอบ 2009-11-02 12:04:27



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.