รูปแบบการนัดหยุดงานและการปิดงาน
ตอนที่ 6 การนัดหยุดงานแบบเฉื่อยงานและแบบไม่ยอมออกจากสถานที่ทำงาน
ข้อ 9 การนัดหยุดงานแบบเฉื่อยงาน (slow-dow strike) การนัดหยุดงานแบบเฉื่อยงานนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายแรงงานเพราะการนัดหยุดงานต้องเป็น การไม่ทำงาน หรือหยุดงานจริงๆ แต่การนัดหยุดงานแบบนี้ลูกจ้างยังคงทำงานในสถานที่ทำงานโดยไม่ได้หยุดงานจริงๆ เพียงแต่ทำงานอย่างเชื่องช้า ทำเพียงบางส่วน หรือทำในลักษณะที่ขาดตกบกพร่อง เช่น ทำให้ผลผลิตน้อยลงกว่าที่เคย ซึ่งเป็นการกระทำที่จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นการผิดเงื่อนไชหรือสัญญาจ้างแรงงาน การนัดหยุดงานเช่นนี้จึงไม่ใช่การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการหยุดงานหรือไม่ใช่การนัดหยุดงานที่แท้จริง เนื่องจากลูกจ้างที่หยุดงานยังคงทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายซึ่งนายจ้างอาจเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ข้อ 10 การนัดหยุดงานโดยไม่ยอมออกจากสถานที่ทำงานหรือโดยครอบครองสถานที่ทำงาน ที่เรียกว่า Sit in- strike หรือ sit-dow- strike ซึ่งหมายถึงการนัดหยุดงานตามปกติโดยลูกจ้างหรือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งประท้วงภายในโรงงานหรือภายในสถานประกอบกิจการหรือยึดสถานประกอบกิจการไว้ในครอบครองเป็นการชั่วคราวไม่ว่าจะเป็นการยึดเพียงบางส่วน บางแผนก หรือทั้งสถานประกอบกิจการ ทั้งไม่ยอมหรือขัดขวางไม่ให้ลูกจ้างอื่นเข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเดียวกัน หรือลูกจ้างที่นายจ้างจัดหามาเพื่อทำงานแทนลูกจ้างที่นัดหยุดงาน การนัดหยุดงานเช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในการทำงานของลูกจ้างอื่นและขัดต่อสิทธิเสรีภาพของเจ้าของกรรมสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม การนัดยุดงานแบบนี้หากกระทำเพียงระยะเวลาอันสั้นหรือโดยสงบ ซึ่งลูกจ้างอื่นสามารถทำงานต่อไปได้ และนายจ้างก็ไม่ได้สั่งให้ลูกจ้างออกจากสถานที่ทำงาน ก็อาจเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย
การนัดหยุดงานเช่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางมิให้นายจ้างจัดหาลูกจ้างอื่นมาทำงานแทน หรือขัดขวางการตอบโต้ของนายจ้างโดยการปิดงานหรือเพื่อบีบบังคับนายจ้างเป็นพิเศษ
โดย: กิติพงศ์ หังสพฤกษ์,บทความรูปแบบการนัดหยุดงานและการปิดงาน,(วารสารศาลแรงงาน ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2538)น.35-43
รวมคำพิพากษาฎีกา ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทศวรรษที่ 2 (ปี พ.ศ. 2532-2542) น.167-168
6/6/2549