อายุความ กับ วันหยุดพักผ่อนประจำปี
ใจดีไปหน่อยเลยเขียนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า ให้พนักงานมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 10 วัน และมีสิทธิสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่มิได้ใช้ได้ตลอดอายุการเป็นพนักงานโดยไม่มีข้อจำกัด ถ้าไม่ใช้สิทธินายจ้างจะจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีในส่วนที่มิได้ใช้ มาปวดหัวเมื่อตอนลูกจ้างมีอายุงาน 20 ปี ไม่เคยใช้สิทธิในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเลย โดยสะสมมาตลอดเป็นจำนวน 200 วัน แล้วนายจ้างเผลอใจ (อีกแล้ว) ไปเลิกจ้างลูกจ้างเข้าแล้ว ค่าชดเชยนะพร้อมจ่ายอยู่แล้วหละ แต่มิได้ (เตรียมใจ) ไว้จ่ายเงินค่าจ้างแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมมาทั้งหมด ก็เลยทำเป็นลืมๆมันไป แต่ลูกจ้างนึกได้จึงไปฟ้องคดีต่อศาลหลังถูกเลิกจ้าง 2 เดือน เรียกให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 200 วัน เป็นเวลาย้อนหลัง 20 ปีให้ นายจ้างต่อสู้คดีว่า ลูกจ้างมีสิทธิในเงินค่าจ้างแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีย้อนหลังไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันฟ้อง ค่าจ้างแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีส่วนที่เกิน 2 ปี (เกินอยู่ตั้ง 18 ปี) คดีขาดอายุความ ข้อต่อสู้ของนายจ้างชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด ?
(คำถามน่าคิดนะ) ข้อพิพาทคดีนี้มีประเด็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ (กฎหมายแพ่งอีกแล้ว) แล้วอายุความคืออะไร (เพิ่งอ่านผ่านตามาทำไมจะไม่รู้) อายุความก็คือ ระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ถ้ามิได้ใช้ในเวลาที่กฎหมายกำหนดก็เป็นอันขาดอายุความ
แล้วค่าจ้างแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เพียงใด คำตอบคือ 2 ปี เหตุเพราะ ค่าจ้างแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีถือเป็นค่าจ้างหรือสินจ้าง ตามความในมาตรา 193/34 (9) ถ้าเกิน 2 ปี แล้วฟ้องคดีไปลูกหนี้ก็มีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้ได้
ถ้าเช่นนั้น การดูว่าคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ดูอย่างไร คำตอบคือ ให้ดูว่าอายุความเริ่มนับแต่เมื่อใดก็ให้นับแต่เมื่อนั้นเป็นต้นไปจนครบ 2 ปีก็เป็นอันขาดอายุความ แล้วอายุความเริ่มนับแต่เมื่อใด กฎหมายกำหนดให้อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แล้วกรณีตามปัญหาจะดูอย่างไรว่าเมื่อใดที่ถือว่าอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้แล้วจึงจะเริ่มนับอายุความ กรณีตามปัญหาให้ดูว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานายจ้างไม่จัดให้หยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างเป็นเพราะนายจ้างเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ หากใช่ ย่อมหมายความว่าลูกจ้างอาจใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้นายจ้างปฎิบัติตามสัญญาได้นับแต่วันที่นายจ้างผิดสัญญาเป็นต้นไปอายุความก็จะเริ่มนับแต่บัดนั้นเป็นต้นไป แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมานายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีก็จริง แต่เป็นเพราะลูกจ้างใช้สิทธิสะสมวันหยุดตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่างหาก การใช้สิทธิสะสมวันหยุดจึงเป็นไปโดยความสมัครใจของนายจ้างและลูกจ้างตามข้อตกลงในสัญญาไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา การบังคับตามสิทธิจึงยังไม่เกิดขึ้น อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ แล้วอายุความจะเริ่มนับเมื่อใด คำตอบคือ เริ่มนับเมื่อบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานถือได้ว่าข้อตกลงเรื่องการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นอันยุติ ลูกจ้างชอบที่จะบังคับตามสิทธิของตนได้นับแต่บัดนั้นเป็นต้นไป อายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับได้ตามสิทธิก็คือ นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปนับไปเรื่อยๆครบ 2 ปีเมื่อใดฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความเมื่อนั้น แต่เรื่องนี้ลูกจ้างฟ้องคดีหลังเลิกจ้างเพียง 2 เดือนยังไม่เกิน 2 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ ข้อต่อสู้ของนายจ้างจึงฟังไม่ขึ้น (แพ้เขาเราไม่เศร้าไม่โศก เพราะว่าโชคของเราไม่ดี)