(ตอนที่ 2) ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้

เมื่อฟังข้ออ้างของนายทะเบียนแล้วทำให้คิดถึงสมัยที่ยังเรียนกฎหมายใหม่ๆมักจะได้ยินอยู่เสมอว่า ถ้าไม่มีกฎหมายที่จะนำมาปรับใช้กับประเด็นปัญหาโดยตรง ก็ให้นำกฎหมายใกล้เคียงมาปรับใช้ ส่วนคำว่า เมื่อกฎหมายแรงงานมิได้กำหนดเรื่องคณะกรรมการชุดใดจะเป็นผู้มีหน้าที่รักษาการเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จึงต้องวินิจฉัยตามข้อบังคับของสหภาพ (ก็เพิ่งเคยได้ยิน ก็คราวนี้แหละ) แล้วถ้าไม่มีข้อบังคับสหภาพละ คราวนี้จะเอาอะไรมาปรับใช้ (พ่อคุณ... พ่อทูนหัว)
โดยหลักกฎหมาย กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรง (จริงๆ) ก็มีทางแก้ (ไม่ต้องห่วง) นั้นก็คือ ถ้าไม่มีบทบัญญัติที่จะยกมาปรับคดีได้ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ท่านให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป (เป็นอย่างไรหนอ) นั้นเอง
อาจมีข้อโต้เถียงว่า ก็มีคำกล่าวเป็นที่รู้ทั่วไปในหมู่นักกฎหมายเช่นกันว่า ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ ก็ย่อมทำได้ (ไม่ใช่หรือ) ก็ใช่อยู่ แล้วกรณีเช่นนี้นายทะเบียนอาจหมายความว่า ในเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ คณะกรรมการชุดที่ถูกนายทะเบียนเพิกถอนก็ย่อมมีสิทธิรักษาการได้มิใช่หรือ นอกจากนี้ข้อบังคับสหภาพก็บอกไว้ว่าให้คณะกรรมการที่พ้นสภาพไปทั้งคณะอยู่รักษาการเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็จูงใจให้แปลความรวมถึงคณะกรรมการที่ถูกนายทะเบียนเพิกถอนด้วย (จริงไหมพวก) ความเห็นนี้ถูกใจนายทะเบียน คำตอบคือ จริง ถ้าเช่นนั้น ความเห็นนายทะเบียนก็ถูกแล้วซิ (ช้าก่อน ท่านทั้งหลาย) อย่าเพิ่งด่วนสรุปเช่นนั้น ปัญหาเรื่องนี้มีประเด็นต้องพิจารณาว่า การวินิจฉัยผลของการเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนต้องอาศัยกฎหมายแรงงานจริงหรือ ? จำเป็นด้วยหรือที่กฎหมายแรงงานต้องเขียนถึงผลของการเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนไว้ว่าจะให้คณะกรรมการชุดใดรักษาการ ? และ ข้อบังคับสหภาพที่ให้คณะกรรมการชุดที่พ้นสภาพไปทั้งคณะรักษาการเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น หมายถึงคณะกรรมการชุดที่ถูกนายทะเบียนเพิกถอนจริงหรือ ?
เวลาหมดแล้ว ติดตามตอนต่อไป .........
10/1/49