การทำหน้าที่ฝ่ายบุคคลกับความรับผิดในทางแพ่ง
ถ้าฝ่ายบุคคลเลิกจ้างพนักงานตามอำนาจที่มีอยู่ในใบพรรณนางานของตน แล้วศาลบอกว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฝ่ายบุคคลต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกจ้างหรือไม่? ไม่ต้อง (ใครๆก็รู้) ถูกต้องแล้วครับ ถามใหม่ แล้วทำไมไม่ต้องรับผิด? (เออ...)
เรื่องมันเป็นอย่างนี้ การทำหน้าที่ฝ่ายบุคคลตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น กฎหมายถือว่าเป็นการกระทำแทนนายจ้าง โดยฝ่ายบุคคลเป็นตัวแทน นายจ้างเป็นตัวการ ความรับผิดของตัวแทน(รวมตัวการด้วย)ที่มีต่อบุคคลภายนอกนั้น (ก็ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างนั้นแหละ)จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย ตัวการ ตัวแทน แล้วกฏหมายกำหนดความรับผิดของตัวแทนกรณีนี้ไว้อย่างไรละ? กฎหมายบอกว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน ก็ในเมื่อฝ่ายบุคคลเลิกจ้างพนักงานตามอำนาจของตนที่มีอยู่ในใบพรรณนางานย่อมเป็นการกระทำภายในของอำนาจแห่งฐานตัวแทน การกระทำของฝ่ายบุคคลในฐานะตัวแทนย่อมต้องผูกพันนายจ้างในฐานะตัวการให้ต้องรับผิดต่อพนักงานที่ถูกเลิกจ้างด้วย (ก็จ่ายค่าเสียหายให้เขานั้นแหละ)แต่ถ้าฝ่ายบุคคลกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี กฎหมายบอกว่าไม่ผูกพันนายจ้าง ความหมายก็คือ ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกด้วยตนเองเป็นการส่วนตัว เว้นแต่ นายจ้างซึ่งอยู่ในฐานะตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น แล้วถ้านายจ้างไม่ให้สัตยาบันละ?(ก็ตัวใครก็ตัวมันละคราวนี้)
ดังนั้น ฝ่ายบุคคลที่ทำงานตามหน้าที่แม้จะเกิดความผิดพลาดจนกระทั้งเกิดความเสียหายใดๆขึ้นก็ตามก็ไม่ต้องตกใจ เพราะไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เว้นแต่ เกิดจากการประมาทเลินเล่อ หรือไม่ทำการตามหน้าที่ หรือทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกหน้าที่ เมื่อนั้นแหละต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อบุคคลภายนอกและต้องรับผิดต่อนายจ้างซึ่งเป็นตัวการด้วย (รับมากเหมือนกันนะขึ้นเงินเดือนให้หน่อยได้ไหม)
แล้วความรับผิดของฝ่ายบุคคลในทางอาญาละเหมือนทางแพ่งหรือไม่ ? (ถามใช่ไหม) ใช่ ถ้าเช่นนั้นก็จะตอบแล้วนะ เอ้า....เวลาหมดพอดี (โปรดติดตามชมได้ที่นี่...เร็วๆนี้)
.....................................................