ได้ยินบ่อยใช่ไหมว่า นายจ้างมีสิทธิไม่มอบงานให้ลูกจ้างทำได้ ตราบใดที่ยังจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามสัญญา (ทำไมถึงเป็นเช่นนี้) คุณครับ ไม่ต้องเปิดหาในกฎหมายแรงงานนะครับ เพราะมันไม่มี แต่มันอยู่ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย หนี้ กล่าวคือ สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อกัน ฝ่ายนายจ้างก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้างก็มีหน้าที่ทำงานตามคำสั่ง เมื่อมีหน้าที่ก็ต้องมีสิทธิเป็นของคู่กัน ฝ่ายนายจ้างก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกจ้างทำงานให้ได้ ฝ่ายลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ได้เช่นกัน ในส่วนที่เป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่ายนี่แหละครับ กฎหมายเข้าเรียกว่า หนี้ ต้องชำระให้อีกฝ่ายหนึ่งตามสิทธิของเขา ดังนั้น เมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างย่อมเท่ากับนายจ้างได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ลูกจ้างถูกต้องตามสัญญาแล้ว ฝ่ายลูกจ้างก็ต้องทำงานให้นายจ้างเพื่อใช้หนี้เช่นกัน แต่หนี้ที่ฝ่ายลูกจ้างต้องปฏิบัติต่อนายจ้างนั้น นายจ้างอาจปฏิเสธที่จะรับได้ เนื่องจากเป็นสิทธิของนายจ้าง การที่นายจ้างไม่ใช้สิทธิของตน (ไม่ต้องการให้ลูกจ้างทำงาน ขอเพียงตอกบัตรแล้วนั่งเฉยๆก็พอ) แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนครบถ้วน (จ่ายค่าจ้างให้) เช่นนี้ย่อมถือว่านายจ้างมิได้ผิดสัญญา นายจ้างจึงกระทำได้โดยชอบ
มีข้อน่าสงสัยกรณีลูกจ้างบางตำแหน่งมีค่าจ้างทั้งประเภท เงินเดือน และค่าจ้างตามผลงานที่คำนวณได้เป็นหน่วย เช่น พนักงานขับรถบรรทุกที่ได้รับค่าจ้างรายเดือนในอัตราใกล้เคียงกับค่าแรงงานขั้นต่ำ แต่มีรายได้จากค่าเที่ยวที่ขับรถส่งสินค้าคำนวณจ่ายให้เที่ยวต่อเที่ยว เป็นต้น กรณีเช่นนี้ หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างเฉพาะเงินเดือนให้ลูกจ้างแล้วไม่มอบงานให้ลูกจ้างทำ คงให้มาตอกบัตรแล้วนั่งเฉยๆ อย่างนี้ลูกจ้างย่อมเสียสิทธิในการได้รับค่าเที่ยวซึ่งถือเป็นค่าจ้างอีกประเภทหนึ่ง กรณีอย่างนี้นายจ้างทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? (น่าคิดนะ) ท่านผู้อ่านช่วยผมคิดด้วยนะครับ ส่วนผมจะขอคิดดังๆให้ท่านฟังก่อน ดังนี้ สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน ตามที่ได้วางหลักไว้แล้วข้างต้น เมื่อลูกจ้างตกลงเข้ามาทำงานในหน้าที่ขับรถให้นายจ้างโดยมีข้อตกลงที่จะรับค่าจ้างทั้งสองประเภท โดยค่าจ้างที่เรียกว่า เงินเดือน ตกลงจ่ายตามกำหนดระยะเวลา เมื่อถึงกำหนดระยะเวลานายจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องจ่าย ส่วนค่าจ้างที่เรียกว่า ค่าเที่ยว นั้นตกลงกันจ่ายตามผลงานของลูกจ้าง การมอบงานให้ลูกจ้างทำอาจกลายเป็นหน้าที่ของนายจ้างไปเสียแล้ว ดังนั้น การที่นายจ้างไม่มอบงานให้ลูกจ้างทำอาจถือได้ว่านายจ้างมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ลูกจ้างถูกต้องตามข้อตกลงในสัญญา นายจ้างจึงอาจเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดในความเสียหายที่ลูกจ้างไม่ได้รับเงินค่าเที่ยว
.......................................................................
26/4/2549