ตอนที่ 2 อุทาหรณ์
เรื่อง สิทธิในการลาป่วย ในระหว่างนัดหยุดงาน
ฎีกาที่ 5274/2530
การจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง และจำเลยผู้เป็นนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ และตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 วรรคหกได้นิยามคำว่า การปิดงานไว้ว่า หมายถึง การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งการที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างปิดงานโดยชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นมาตรการที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิที่จะกระทำได้ เพื่อบีบบังคับให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างจำต้องยอมตามข้อเรียกร้องของจำเลยโดยจำเลยไม่ยอมให้โจทก์ทำงานชั่วคราว และไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในระหว่างปิดงาน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์นั้น ในระหว่างปิดงานดังกล่าว การทำงานได้ยุติลงชั่วคราว ไม่มีวันทำงาน ไม่มีวันลา และไม่มีวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2515 หมวด 1 ว่าด้วยการใช้แรงงานทั่วไป จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันทำงานตามปกติ รวมถึงค่าจ้างในวันหยุดให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างในระหว่างปิดงานเพราะการทำงานได้ยุติชั่วคราวเสียแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าวันที่ 1,5 และ 8 พฤษภาคม 2530 อันเป็นหยุดตามประเพณีอยู่ในช่วงระหว่างจำเลยปิดงานด้วยแล้ว จำเลยก็หาต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวให้แก่โจทก์ไม่
ในกรณีที่ลูกจ้างป่วยในระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงาน ซึ่งตามปกติแม้ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วัน ทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 12 ก็ตาม แต่เนื่องจากผลของการระงับลงชั่วคราวของสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว จึงทำให้ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างเว้นแต่ลูกจ้างจะลาป่วยก่อนการนัดหยุดงานและคาบเกี่ยวกับช่วงระยะเวลาที่มีการนัดหยุดงานซึ่งแม้ลูกจ้างนั้นจะเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องก็ตาม ลูกจ้างที่ลาป่วยก่อนวันหยุดงานก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเนื่องจากลูกจ้างนั้นมิใช่ลูกจ้างที่นัดหยุดงาน และในกรณีที่ลูกจ้างคลอดบุตรในระหว่างที่นายจ้างปิดงานนั้น แม้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์จะมีสิทธิลาเพื่อการคลอดและได้รับค่าจ้างเท่าเวลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ตาม และลูกจ้างนั้นก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกัน
โดย: กิติพงศ์ หังสพฤกษ์,บทความผลทางกฎหมายของการนัดหยุดงานและการปิดงาน,(วารสารศาลแรงงาน ปีที่ 12 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2539)น.52-62
รวมคำพิพากษาฎีกา ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทศวรรษที่ 2 (ปี พ.ศ. 2532-2542) น.220-221
10/7/2549