ปัญหาดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม กรณีลูกจ้างปฏิเสธเงินชดเชย
เมื่อนายจ้างบอกเลิกจ้างแล้วจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างในวันที่เลิกจ้าง ลูกจ้างมักปฏิเสธที่จะรับค่าชดเชย อาจจะเป็นเพราะไม่ยอมรับข้อกล่าวหาในหนังสือเลิกจ้าง หรือเพราะโกรธจัดก็แล้วแต่ ลูกจ้างบางรายถึงกับบอกนายจ้างว่า ไว้เจอกันในศาล พอนายจ้างได้ยินเข้าก็ชักร้อนจึงตอบกลับไปว่า เจอก็เจอซิวะ แต่ตอนนี้เงินค่าชดเชยอยู่ตรงหน้าแล้วเอาไปก่อน ลูกจ้างตอบว่า ไม่เอา นายจ้างเลยเก็บใส่กระเป๋ากลับบ้านไป แทนที่จะเอาเงินค่าชดเชยไปมอบไว้กับอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนดไว้ พออารมณ์เย็นลงก็เริ่มกังวลว่า ตัวเองต้องรับผิดในดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของค่าชดเชยที่เอากลับบ้าน หรือเปล่า ?
ปัญหานี้น่าคิด ความเห็นของนักกฎหมายส่วนใหญ่ (เหลือส่วนน้อยนิดเดียว) เห็นว่า กรณีเช่นนี้ นายจ้างต้องรับผิดในดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่ม จนกว่าจะนำเงินค่าชดเชยไปมอบไว้กับอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ถามว่า ทำไมถึงเห็นเช่นนั้น คำตอบก็ง่ายนิดเดียว ก็กฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นนี่ เมื่ออ่านกฎหมายแล้วก็เขียนอย่างนั้นจริงๆเลยเคลิบเคลิ้มน่าเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายส่วนน้อยที่เห็นต่างไป โดยผู้เขียนเห็นว่า มาตรา 9 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่กำหนดไว้ในวรรคแรกว่า กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปีนั้น หมายถึง เฉพาะนายจ้างที่เป็นฝ่ายปฏิเสธที่จะจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง มิใช่นายจ้างที่พยายามจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ข้อเท็จจริงตามปัญหา ลูกจ้างต่างหากที่เป็นฝ่ายปฏิเสธไม่ยอมรับค่าชดเชย เมื่อเป็นเช่นนี้ยังจะให้นายจ้างรับผิดในดอกเบี้ยอีกหรือ ? (ไม่แฟร์นะ) ในเมื่อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็บอกไว้ว่า ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร์ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด เห็นไหม ใครกันแน่ที่ผิดนัด (ลูกจ้างถือเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้นายจ้างในฐานะลูกหนี้ชำระค่าชดเชย ส่วนค่าชดเชยถือเป็นหนี้) นอกจากนี้กฎหมายยังเขียนต่อไปอีกว่า หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยระหว่างเจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่ เห็นไหม ลูกจ้างเป็นฝ่ายไม่รับค่าชดเชยเอง นายจ้างจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แล้วความในวรรคสามหมายความว่าอย่างไร ? ความในวรรคสามที่กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างพร้อมที่จะจ่ายเงินค่าชดเชยและได้นำเงินไปมอบไว้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้างนายจ้างไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มนับแต่วันที่นายจ้างนำเงินนั้นไปมอบไว้นั้น หมายถึง เฉพาะนายจ้างที่ปฏิเสธไม่ชำระค่าชดเชยเสียแต่เมื่อเลิกจ้าง นายจ้างประเภทนี้หากประสงค์จะพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มและบัดนี้พร้อมแล้วที่จะเป็น
ฮีโร่ของลูกจ้าง กฎหมายก็ยังเปิดช่องให้กลับตัวเป็นคนดีสามารถปฏิบัติการชำระหนี้ได้ จึงกำหนดไว้ในวรรคสาม ด้วยการให้นายจ้างชำระหนี้ไว้แก่อธิบดีหรือผู้มอบหมายแทนเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่ม ความในวรรคสามจึงเชื่อมโยงกับความในวรรคแรกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ความในวรรคสามจึงมิได้มีจุดประสงค์ใช้กับนายจ้างที่เป็นฝ่ายถูกลูกจ้างปฏิเสธค่าชดเชย (แต่ถ้านายจ้างที่ถูกลูกจ้างปฏิเสธค่าชดเชยจะขอใช้สิทธิตามความในวรรคสามนี้ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด) ถามต่อ ถ้าเป็นเช่นนี้ นายจ้างที่ถูกลูกจ้างปฏิเสธค่าชดเชยก็สบายนะซิ เงินต้นก็ไม่ต้องเสีย ดอกเบี้ยก็ไม่ต้องจ่ายอย่างนั้นหรือ ? ก็ไม่สบายนักหรอก ดอกเบี้ยไม่ต้องจ่ายนะใช่ แต่เงินต้นยังต้องรับผิดอยู่ แล้วดอกเบี้ยจะไม่ต้องรับผิดไปนานเพียงใด ? ก็นานเท่าที่ลูกจ้างจะเปลี่ยนใจอยากรับเงินค่าชดเชยแล้วบอกกล่าวทวงถามให้นายจ้างชำระนั้นแหละ เมื่อนั้นดอกเบี้ยเริ่มเดินทันที หากนายจ้างยังนิ่งเฉยเสียก็จะลงล๊อคตามความในวรรคแรกทันที คือ ต้องรับผิดในดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่ม หากต้องการพ้นความรับผิดก็ต้องปฏิบัติตามความในวรรคสาม คือ นำเงินไปมอบให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อจ่ายให้ลูกจ้าง เมื่อนั้นจึงจะพ้นความรับผิด
ความเห็นนี้ แม้จะเป็นความเห็นของเสียงส่วนน้อย แต่หากเรื่องของท่านตรงกับข้อเท็จจริงในบทความนี้ เมื่อจำเป็นต้องต่อสู้คดี หากท่านจะลองนำข้อต่อสู้นี้ไปใช้ ความสำเร็จอาจเป็นของท่านก็ได้ (ใครจะไปรู้)
................................................31 ก.ค 49