กรณีสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อต้องการเลิกจ้าง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างมี 2 ทางเลือก คือ 1. บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างรู้ตัวไม่น้อยกว่าหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง หรือ 2. จ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวไว้และให้ลูกจ้างออกจากงานทันที หากนายจ้างไม่เลือกทั้ง 2 ทาง นายจ้างต้องรับผิดในสินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยจำนวนสินจ้างที่ต้องรับผิดก็เท่ากับจำนวนระยะเวลาที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งไม่น้อยไปกว่าหนึ่งงวดค่าจ้างนั้นเอง การบอกเลิกจ้างนั้น หากไม่ชอบด้วยข้อสัญญาหรือข้อกฎหมายอื่นใดอีกและเป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างย่อมต้องรับผิดในค่าเสียหายอีกต่างหากเป็นคนละกรณีกัน นายจ้างจึงต้องรับผิด 2 เด้ง
ย้อนมาดูฝ่ายลูกจ้างกันบ้าง เมื่อต้องการลาออกจากงาน กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างมี 1 ทางเลือกเท่านั้น คือ ต้องบอกกล่าวให้นายจ้างรู้ตัวไม่น้อยกว่าหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง หากลูกจ้างลาออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีข้อสงสัยว่า ลูกจ้างต้องรับผิดในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเหมือนนายจ้าง หรือไม่ ?
กรณีนี้ ลูกจ้างไม่ต้องรับผิดในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเหมือนอย่างนายจ้าง เพราะกฎหมายมิได้กำหนดหน้าที่เช่นนั้นไว้ แต่การกระทำของลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นนี้ หากเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย กฎหมายกำหนดให้สิทธินายจ้างเรียกค่าเสียหายาจากลูกจ้างได้ ลูกจ้างจึงรับผิดเพียง 1 เด้งเท่านั้น แต่ 1 เด้งที่ลูกจ้างต้องรับผิดนี้เมื่อเทียบกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่นายจ้างต้องรับผิดในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาแล้ว อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าก็เป็นได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป โดยเฉพาะลูกจ้างที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงอาจสร้างความเสียหายให้นายจ้างได้มาก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากลาออกโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าอาจต้องรับผิดในค่าเสียหายจำนวนมากได้เช่นกัน
..................................................... สมบัติ ลีกัล ต.ค. 55 (refresh)