ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป กฎหมายกำหนดว่า ลูกจ้างอาจจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบการนั้นได้ ทั้งนี้ ย่อมหมายความว่า ลูกจ้างไม่จัดตั้งก็ได้ อะไรก็ตามที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ไม่ผิดกฎหมาย สิ่งนั้นย่อมถือเป็นสิทธิ การจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างจึงเป็นสิทธิของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการโดยแท้นั้นเอง
ปัญหามีอยู่ว่า หากลูกจ้างไม่ประสงค์จะจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ แต่สหภาพแรงงานซึ่งมีลูกจ้างในสถานประกอบการนั้นเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมดในสถานประกอบกิจการประสงค์จะแต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง และได้แต่งตั้งกรรมการลูกจ้างขึ้นจำนวนหนึ่ง โดยอ้างว่า เป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ กรณีเช่นนี้ การแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างของสหภาพแรงงานเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
กรณีตามปัญหาจะเห็นได้ว่า การจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างเป็นสิทธิของลูกจ้างในสถานประกอบการ หากลูกจ้างในสถานประกอบการนั้นไม่ประสงค์จะจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างเสียแล้ว คณะกรรมการลูกจ้างย่อมไม่อาจมีขึ้นได้ การที่กฎหมายให้สิทธิสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกในสถานประกอบการนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมดมีสิทธิในการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างให้มีจำนวนมากกว่ากรรมการอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนึ่งคนนั้น หมายความว่า ต้องมีคณะกรรมการลูกจ้างที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้นเสียก่อน
สหภาพแรงงานจึงจะใช้สิทธิในการแต่งตั้งตามสัดส่วนของตนตามที่กฎหมายกำหนดได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกจ้างไม่ประสงค์จะจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างขึ้นในสถานประกอบกิจการ กรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้ง โดยไม่มีคณะกรรมการลูกจ้างในส่วนที่ลูกจ้างจัดตั้งขึ้นจึงถือว่าเป็นกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การเป็นคณะกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ผู้ได้รับการแต่งตั้งย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นายจ้างอาจลงโทษทางวินัยหรือเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงาน
ปัญหาต่อไปมีว่า กฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะ ในกรณีที่ลูกจ้างเกินกึ่งหนึ่งของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการมีมติให้กรรมการลูกจ้างทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเกินกึ่งหนึ่งมีมติให้บุคคลที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งพ้นจากการเป็นกรรมการลูกจ้างทั้งหมด กรณีเช่นนี้ ต้องมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ?
กรณีเช่นนี้จะเห็นได้ว่า การลงมติของลูกจ้างให้บุคคลที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งกรรมการลูกจ้างนั้น หาได้มีผลเป็นการเพิกถอนสถานะภาพการเป็นกรรมการลูกจ้างของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมิได้มีสถานภาพการเป็นกรรมการลูกจ้างอยู่เดิม การเพิกถอนจึงมิอาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีเช่นนี้จึงไม่ต้องมีการเลือกตั้งหรือจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งหมดแต่อย่างใด
ดังนั้น ในสถานประกอบกิจการนี้ จึงจะไม่มีกรรมการลูกจ้างต่อไปอีกนานเท่าที่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการจะเห็นสมควร
.........................................สมบัติ ลีกัล 6 ก.พ 50
