บทความเรื่องนี้ก็เป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการรู้ถึงความเหมือนและความต่างกันของละเมิด กับ ผิดสัญญา นั้นก็คือ ดอกเบี้ย นั้นเอง เมื่อกล่าวถึงดอกเบี้ย ต้องรู้เสียก่อนว่า การคิดดอกเบี้ยนั้นเขาคิดกันเฉพาะกรณีเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินเท่านั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้วค่อยมาดูความต่างกันของดอกเบี้ยกรณีละเมิด กับ ผิดสัญญา ว่าคิดดอกเบี้ยต่างกันอย่างไร ? การคิดดอกเบี้ยนั้น กฎหมายเขาให้คิดนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป (เอาแล้วสิ) เริ่มสับสนอีกแล้ว วันผิดนัด คือ อะไร ? วันผิดนัด ก็คือ วันที่กฎหมายเขาถือว่า ต้องชำระหนี้แต่ไม่ยอมชำระนั้นแหละ (เข้าใจไหม) พอจะเข้าใจอยู่บ้างเหมือนกัน แล้วกรณีละเมิดวันไหนเป็นวันที่กำหนดให้ชำระหนี้ละ ? (ถามถูกใจ) กรณีละเมิดนั้น กฎหมายกำหนดให้วันทำละเมิดนั้นแหละเป็นวันชำระหนี้ (ค่าเสียหาย) ดังนั้น หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เสียแต่วันทำละเมิด ลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดมานับแต่วันทำละเมิด จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เช่น ลูกจ้างมีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้าแล้วไม่ขยันนำส่งนายจ้าง แบ่งเอาใส่กระเป๋าตนเองเป็นประจำทุกสิ้นเดือน (เอาไว้ผ่อนรถ) กรณีอย่างนี้ลูกจ้างต้องรับผิดในดอกเบี้ยของยอดเงินที่เก็บใส่กระเป๋าไว้ในแต่ละเดือนเรื่อยไป
แล้วกรณีผิดสัญญาวันไหนเป็นวันผิดนัดละ ? (ถามถูกใจอีกแล้ว) กรณีผิดสัญญา
นี้ กฎหมายมิได้กำหนดวันผิดนัดไว้โดยตรงเช่นเดียวกับกรณีละเมิด เหตุเพราะข้อตกลงตามสัญญามิใช่กฎหมาย จึงแล้วแต่ความสมัครใจของคู่กรณีที่จะตกลงกัน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะถือวันใดเป็นวันผิดนัดละ ? กรณีผิดสัญญา (ไม่มีผิดกฎหมายประกอบด้วย) นั้น ก็ต้องไปดูในสัญญาว่า ได้เขียนเรื่องที่ผิดสัญญาเรื่องนั้นๆไว้อย่างไร มีการเขียนกำหนดวันที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ไว้หรือไม่ หากเขียนไว้เมื่อถึงวันที่กำหนดแล้วไม่ชำระ ก็ถือว่า วันนั้นแหละเป็นวันผิดนัด เช่น สัญญากำหนดให้นายจ้างต้องชำระค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อถึงกำหนดแล้วไม่ชำระย่อมถือว่าวันสิ้นเดือนนั้นเป็นวันผิดนัด นายจ้างจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันสิ้นเดือนเป็นต้นไป หากในสัญญาไม่เขียนวันชำระหนี้ไว้ เช่น สัญญาบอกว่าต้องทำงานให้นายจ้าง 2 ปี หากผิดสัญญาต้องชำระค่าเสียหาย100,000 บาท แต่ไม่ได้บอกว่าค่าเสียหายนั้นต้องชำระวันใด กรณีอย่างนี้ถือว่า ไม่มีกำหนดวันที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ไว้ ถ้าลูกจ้างไม่ชำระค่าเสียหายให้ก็ยังไม่อาจถือว่า ลูกจ้างผิดนัดได้ ลูกจ้างจึงยังไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ย แล้วจะไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยไปนานเพียงใด ? ก็นานจนกว่า จะมีการกำหนดวันให้ชำระหนี้นั้นเอง ซึ่งก็หมายถึงวันที่ทวงถามนั้นแหละทวงถามเมื่อใดก็รับผิดในดอกเบี้ยเมื่อนั้น เคยเห็นไหม ทนายความเขาชอบยื่นโนติสก่อนฟ้องคดี อย่างน้อยโนติสก็ช่วยให้มีวันชำระหนี้เกิดขึ้น เมื่อมีวันชำระหนี้แล้ว หากลูกหนี้ยังไม่ชำระก็ถือว่า ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อนั้นแหละลูกหนี้ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดไว้ในโนติสเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กรณีตามตัวอย่างก็เช่นกัน ลูกจ้างต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่นายจ้างทวงถามให้ชำระค่าเสียหายเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเช่นกัน
.........................สมบัติ ลีกัล 7 มี.ค 50