ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ ลูกจ้างที่เข้าทำงานในปีแรกแต่มิใช่การเข้าทำงานในวันแรกของปี ให้ใช้สิทธิในการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 30 วันต่อปี ลดลงตามสัดส่วนของระยะเวลาที่เหลือในปีนั้น แล้วปีต่อไปค่อยใช้สิทธิได้เต็ม 30 วัน เพื่อความสะดวกในการบริหารงานบุคคล อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ?
หลายเดือนมาแล้วเคยเขียนเรื่อง สิทธิในการลาป่วยปีละ 30 วัน ให้เฉลี่ยใช้เป็นรายเดือนทำนองเดียวกับสิทธิในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วันต่อปี ที่ให้เฉลี่ยใช้เป็นรายเดือนเช่นกัน อย่างนี้ทำได้หรือไม่ ? คำตอบ คือ ทำไม่ได้ เนื่องจากการลาป่วยเป็นสิทธิของลูกจ้างตามข้อเท็จจริง
บทความเรื่องนี้ก็คล้ายๆกัน คือ ให้เฉลี่ยใช้สิทธิการลาป่วย เช่นกัน แต่มิได้เฉลี่ยเป็นรายเดือน มิได้เฉลี่ยอย่างนี้ทุกปี แต่เป็นการเฉลี่ยกับระยะเวลาที่เหลือของปี เฉพาะในปีแรกที่ลูกจ้างเข้าทำงานเท่านั้น ระยะเวลาที่เอามาเฉลี่ยอาจจะ 6 เดือน หรือ 10 เดือนก็ได้สุดแท้แต่ลูกจ้างเข้าทำงานเมื่อใด ส่วนปีต่อไปก็เป็นไปตามกฎหมาย คือ 30 วันต่อปี แค่นี้จะทำไม่ได้เชียวหรือ ?
เหตุผลของนายจ้างก็พอฟังได้อยู่บ้างเหมือนกันที่ว่า เมื่อให้ใช้สิทธิลาป่วยตามสัดส่วนเสียในปีแรกแล้ว ปีต่อๆไปสิทธิลาป่วยจะเริ่มตั้งต้นนับแต่วันที่ 1 มกราคม และ สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม อย่างนี้ก็สะดวกดีเหมือนกัน การเฉลี่ยวันลาป่วยกับระยะเวลาที่เหลือในปีแรกที่ลูกจ้างเข้าทำงานนั้นก็มีความยืดหยุ่นมากกว่าการเฉลี่ยวันลาป่วยเป็นรายเดือนตามบทความเดิมมากเอาการอยู่ ลูกจ้างไม่น่าเสียหายอะไร ?
ในแง่การบริหารงานบุคคล การเฉลี่ยอย่างนี้อาจดูสะดวก ควบคุมง่าย แต่ในแง่กฎหมายแล้ว การลาป่วยยังเป็นสิทธิของลูกจ้างตามความเป็นจริงอยู่เช่นเดิม หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกจ้างป่วย ลูกจ้างย่อมมีสิทธิลาป่วยได้โดยชอบ
ป่วยก็คือป่วย อย่างไรเสียก็ไม่อาจจัดระเบียบการป่วยได้ การป่วยจึงต้องถูกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ นายจ้างจึงไม่อาจนำสิทธิการลาป่วยมาเฉลี่ยให้ลูกจ้างเลือกใช้ได้ ไม่ว่าจะเฉลี่ยเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน รายไตรมาส หรือรายอะไรต่อมิอะไรก็ตาม ยกเว้น รายปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
.....................................สมบัติ ลีกัล 5 เมษายน 2550