เมื่อเขียนเรื่อง เบี้ยขยันแบบเหมาจ่าย กับ ปัญหาที่ติดตามมา ทำให้นึกถึงเรื่อง เงินประจำตำแหน่งที่เคยเกิดปัญหาติดตามมาในอดีต เลยนำมาเขียนให้อ่านควบคู่กัน เรื่องเป็นอย่างนี้
นายจ้างรายหนึ่งต้องการเลิกจ้างลูกจ้างระดับบริหารที่รับผิดชอบการขายการตลาด แต่เนื่องจากลูกจ้างรายนี้มีเงินเดือนสูงและยังมีเงินประจำตำแหน่งอีกจำนวนหนึ่งซึ่งก็มากโขอยู่ ก่อนเลิกจ้างนายจ้างได้ย้ายลูกจ้างรายนี้ไปอยู่ในตำแหน่งอื่นที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่งและในที่สุดก็เลิกจ้างลูกจ้างรายนี้ โดยนำเงินเดือนมาคำนวณจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย แต่มิได้นำเงินประจำตำแหน่งที่ลูกจ้างเคยได้รับอยู่เดิมมาคำนวณจ่ายค่าชดเชยด้วย โดยนายจ้างอ้างว่า ขณะที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างนั้น ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง การไม่นำเงินประจำตำแหน่งมาคำนวณค่าชดเชยด้วยจึงชอบแล้ว
ลูกจ้างจึงนำคดีขึ้นสู่ศาล ในประเด็นพิพาทว่า เงินประจำตำแหน่งเป็นค่าจ้างหรือไม่ ?
ในที่สุดศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า เงินประจำตำแหน่งเป็นค่าจ้าง แม้ขณะเลิกจ้างลูกจ้างจะทำงานในตำแหน่งที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่งก็ตาม ค่าจ้างย่อมติดตัวลูกจ้างไปด้วย การที่นายจ้างไม่นำเงินประจำตำแหน่งไปเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยจึงไม่ชอบ
อุทธาหรณ์เรื่องนี้ลบความภาคภูมิใจของนายจ้างที่สู้อุตสาห์คิดหาวิธีประหยัดเงินค่าชดเชย โดยเชื่อว่า วิธีคิดของตนนั้นแยบยลและถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ในที่สุดไม่สามารถไปได้ถึงฝั่งจึงกลายมาเป็นบทเรียนให้เราๆท่านๆได้ศึกษากัน
เรื่องนี้แม้จะเกิดขึ้นหลายปีแล้วก็ตาม ปัจจุบันแนวการวินิจฉัยเรื่อง ค่าจ้างของศาลฎีกาได้เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมิได้ถือหลักการจ่ายประจำและแน่นอนเป็นหลักตายตัวเช่นเดิมแล้วก็ตาม นายจ้างทั้งหลายก็ไม่ควรประมาทกับเรื่องนี้ เพราะอย่างไรเสีย ท่านยังคงมีหน้าที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เงินประจำตำแหน่งไม่ใช่ค่าจ้าง ซึ่งก็เหนื่อยเอาการอยู่เหมือนกัน หากพิสูจน์ได้ก็ดีไป แต่ หากพิสูจน์ไม่ได้ก็จะเป็นเช่นอุทธาหรณ์เรื่องนี้
..........................................สมบัติ ลีกัล 9 พฤษภาคม 2550