ลูกจ้างไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอ้างว่า นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พนักงานตรวจแรงงานได้เรียกนายจ้างมาสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ส่วนสินจ้างนั้น ในคำสั่งมิได้กล่าวถึงแต่อย่างใด ต่อมานายจ้างเป็นโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยต่อศาล ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้จ่ายค่าชดเชย โดยอ้างว่า จำเลยวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง คำสั่งจึงไม่ชอบ จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยวินิจฉัยข้อเท็จจริงถูกต้องแล้ว คำสั่งให้จ่ายค่าชดเชยจึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ในกรณีเช่นนี้ จำเลยจะฟ้องแย้งมากับคำให้การ โดยอ้างว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างให้ลูกจ้างด้วย นอกจากขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์แล้ว ยังขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จ่ายสินจ้างให้ลูกจ้างอีกด้วย
กรณีจึงมีคำถามว่า จำเลยจะฟ้องแย้งได้หรือไม่ ?
เรื่องนี้ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้ว่า จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก หลักมีแค่นี้เอง
เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวดูอย่างไร ?
ค่าชดเชยกับสินจ้างเป็นของคู่กัน ลูกจ้างก็ร้องให้พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทั้งสองรายการพร้อมกัน เพียงแต่พนักงานตรวจแรงงานสั่งเฉพาะค่าชดเชยเท่านั้น เมื่อสินจ้างไม่ได้สั่ง การจะฟ้องแย้งเรียกให้นายจ้างจ่ายสินจ้างในโอกาสที่นายจ้างเป็นโจทก์ฟ้องเพิกถอนคำสั่งเรื่อง เงินค่าชดเชย ก็น่าจะครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ดูแล้วก็น่าจะเกี่ยวข้องกันน่าจะฟ้องแย้งได้ แต่กฎหมายเขาไม่ได้ดูกันอย่างนั้น กฎหมายให้ดูจากประเด็นพิพาทในคดีเป็นหลัก หากประเด็นที่ต้องพิจารณาในฟ้องแย้งสืบเนื่อง เชื่อมโยง หรือต้องอาศัยประเด็นที่ต้องพิจารณาในฟ้องเดิม ก็ถือว่า ฟ้องแย้งนั้นเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
ในคดีที่นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น เห็นว่า ประเด็นพิพาทที่ต้องพิจารณา คือ มีเหตุเพิกถอนคำสั่งหรือไม่ โดยศาลต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้าง ส่วนในฟ้องแย้งมีประเด็นพิพาทที่ต้องพิจารณา คือ โจทก์ต้องจ่ายสินจ้างให้ลูกจ้างหรือไม่ การที่โจทก์จะต้องรับผิดในค่าชดเชยก็มิได้หมายความว่า โจทก์จะต้องรับผิดในสินจ้างด้วยโดยปริยาย เหตุเพราะ เงินทั้งสองรายการมีกฎหมายบัญญัติความรับผิดไว้แตกต่างกัน โจทก์จะต้องจ่ายสินจ้างให้ลูกจ้างหรือไม่จึงต้องพิจารณาแยกต่างหากจากความรับผิดในค่าชดเชย อีกทั้ง คดีที่โจทก์ฟ้องเป็นการเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ฟ้องแย้งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ดังนั้น ฟ้องแย้ง จึงมิใช่เรื่องที่สืบเนื่อง เชื่อมโยง หรือต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยตามประเด็นพิพาทในฟ้องเดิม ฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยจึงไม่อาจฟ้องรวมมาในคำให้การได้ แต่จำเลยมีสิทธินำเรื่องสินจ้างไปฟ้องเป็นคดีใหม่ได้ต่างหาก
.................................................... สมบัติ ลีกัล 7 ธันวาคม 2550