ลูกจ้างทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้นายจ้าง โดยมีผู้ค้ำประกันคนใหม่ยอมรับผิด ผู้ค้ำประกันคนเก่าพ้นความรับผิดหรือไม่ ?
เมื่อครั้งที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน ลูกจ้างต้องเก็บเงินจากลูกค้าจำนวนมาก (ดูท่าทางลูกจ้างจะขี้ลืม) นายจ้างกลัวลูกจ้างลืมนำเงินที่เก็บมาแล้วส่งต่อให้นายจ้าง กลัวลูกจ้างเผลอคิดว่า เงินเป็นของตัวเอง แล้วเอาไปใช้อย่างสบายใจ เลยให้ลูกจ้างหาผู้ค้ำประกันการทำงาน ลูกจ้างก็จัดหาผู้ค้ำเกรดเอมาให้นายจ้าง (เลยได้ทำงานสมใจอยาก) พอทำไปนานๆอาการลืมก็เกิดขึ้น โดยลูกจ้างเข้าใจว่า เงินที่เก็บจากลูกค้าเป็นของตนเลยเอาไปใช้เสียจริงๆ เมื่อนึกได้ว่า เงินนั้นมิใช่ของตนก็เผลอใช้ไปตั้งเยอะแล้ว (ตายละ) คราวนี้จะทำอย่างไรดี คิดอย่างไรก็คิดไม่ตก แต่ด้วยความที่ทางบ้านสอนมาดี ลูกจ้างเลยไปรับสารภาพกับนายจ้าง นายจ้างก็ใจดี ให้ลูกจ้างทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ โดยระบุว่า ลูกจ้างได้ชำระเงินที่เอาไปให้นายจ้างบางส่วนในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้ แล้วจะชำระที่เหลืออีกบางส่วนในวันพรุ่งนี้ เหลือเท่าใดจะผ่อนชำระจนหมด ว่าแล้วลูกจ้างก็หาผู้ค้ำประกันคนใหม่เข้ามาค้ำประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้
กาลเวลาผ่านไป (ไวเหมือนโกหก) ลูกจ้างไม่ชำระหนี้ให้นายจ้างตามที่รับปากไว้ นายจ้างก็เลยต้องฟ้องลูกจ้างเป็นจำเลยต่อศาล พร้อมทั้งฟ้องผู้ค้ำประกันทั้งเก่าและใหม่เป็นจำเลยร่วมเสียด้วยในโอกาสเดียวกัน (ประหยัดค่าทนาย) ผู้ค้ำประกันคนใหม่ก็ไม่ว่ากระไร ยอมรับกรรมที่ตนก่อไว้ ไม่เถียง จ่ายก็จ่าย แต่ผู้ค้ำประกันคนเก่าไม่ยอมจ่าย เถียงว่า การที่ลูกจ้างทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วมีผู้ค้ำประกันคนใหม่ ตนเองต้องพ้นความรับผิดตามกฎหมาย
เอาละซิ คราวนี้ต้องเปิดกฎหมายกันยกใหญ่ ตกลงผู้ค้ำประกันคนเก่าอ้างกฎหมายอะไร แล้วกฎหมายเขียนอย่างนั้นจริงหรือ ?
ผู้ค้ำประกันคนเก่าอ้างว่า การทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นการผูกนิติสัมพันธ์กันใหม่ เป็นเหตุให้หนี้เดิม (ก็หนี้ที่ลูกจ้างเอาเงินที่เก็บจากลูกค้าไปใช้นะ) เป็นอันระงับไป นายจ้างไม่มีสิทธิบังคับให้ลูกจ้างชำระหนี้ตามหนี้เดิมได้อีกต่อไป คงมีสิทธิบังคับให้ลูกจ้างชำระหนี้ได้ตามหนี้ใหม่ คือ หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีผู้ค้ำประกันคนใหม่เท่านั้น เมื่อหนี้เดิมเป็นอันระงับ ตนเองในฐานะผู้ค้ำประกันคนเก่าเลยหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย (อย่างหวุดหวิด)
ข้ออ้างของผู้ค้ำประกันคนเก่าเช่นว่านี้ ละม้ายคลายคลึงกับหลักกฎหมาย เรื่อง สัญญาประนีประนอมยอมความ นั้นก็คือ สัญญาที่ทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้น ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน หากเป็นเช่นนี้ ถือว่า เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หนี้เดิมก็ระงับ นายจ้างย่อมไม่มีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันคนเก่าให้รับผิดได้ (ดูท่าคดีนี้จะมีเฮ)
แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ความจริงหนังสือรับสภาพหนี้มิใช่การตกลงกันใหม่อันจะเป็นเหตุให้หนี้เดิมระงับ หนังสือรับสภาพหนี้เป็นเพียงหลักฐานแสดงความเป็นหนี้ที่ลูกจ้างในฐานะลูกหนี้ทำให้กับนายจ้างซึ่งเป็นเจ้าหนี้ (ด้วยสำนึกที่ดี) เท่านั้น หนังสือดังกล่าวมิได้เปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้แต่อย่างใด หนี้ที่มีอยู่อย่างไรก็ยังคงมีอยู่อย่างนั้น ดังนั้น หนี้เดิมจึงยังไม่ระงับ เมื่อหนี้เดิมไม่ระงับ ผู้ค้ำประกันคนเก่าจึงต้องรับผิดในหนี้นั้นต่อไป (เรื่องนี้ไม่มีเฮ)
ว่าแล้วทั้งลูกจ้าง ผู้ค้ำประกันคนเก่า คนใหม่ โดนกันทั่วหน้า ป่านนี้ใช้หนี้เขาหมดหรือยังก็ไม่รู้ ?
............................................... สมบัติ ลีกัล 7 ธันวาคม 2550