บริษัทแห่งหนึ่งมีระเบียบกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี ในขณะเดียวกันบริษัทในเครือมีระเบียบกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 55 ปี อยู่มาวันหนึ่งบริษัทในเครือโอนลูกจ้างไปยังบริษัทแม่โดยความยินยอมของลูกจ้าง ลูกจ้างทำงานได้สักระยะหนึ่งพออายุใกล้ 55 ปี นายจ้างต้องการให้เกษียณอายุ จึงเกิดข้อโต้เถียงกันว่า ลูกจ้างต้องเกษียณอายุเมื่อใด ?
นายจ้าง อ้างว่า ระเบียบของบริษัทในเครือซึ่งเป็นนายจ้างเดิมกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 55 จึงเป็นสิทธิที่ติดตัวลูกจ้างมา นายจ้างใหม่จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามความในมาตรา 13 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น ลูกจ้างจึงต้องเกษียณอายุที่ 55
ลูกจ้างอ้างว่า แม้การเกษียณอายุที่ 55 จะเป็นสิทธิที่ติดตัวลูกจ้างมายังนายจ้างใหม่ด้วยก็จริงอยู่ แต่เมื่อระเบียบของนายจ้างใหม่ให้เกษียณอายุได้ที่ 60 ย่อมเป็นคุณต่อลูกจ้างมากกว่า จึงต้องใช้ระเบียบของนายจ้างใหม่ ดังนั้น ลูกจ้างจึงต้องเกษียณอายุที่ 60
ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลสนับสนุนข้ออ้างของตน แล้วจะตัดสินอย่างไรดี ใจก็อยากให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ลูกจ้างจะได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกสักระยะหนึ่ง แต่จะหาเหตุผลใดมาหักล้างข้ออ้างของนายจ้างได้เล่า ?
ในเมื่ออยากให้ลูกจ้างชนะ ลองมาพิจารณาเหตุผลต่อไปนี้ดูสักหน่อย อาจนำไปใช้หักล้างข้ออ้างของนายจ้างได้บ้างไม่มากก็น้อย บางทีนายจ้างอาจใจอ่อนยอมให้ลูกจ้างเกษียณที่ 60 ก็เป็นได้
เอาเป็นว่า ถ้าการเกษียณอายุเป็นสิทธิติดตัวลูกจ้างมาแต่เดิมตามที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันนั้น หากจริงดังว่า ก็อยากให้เข้าใจกันด้วยว่า สิทธินั้นสละได้ แต่หน้าที่สละไม่ได้ กฎหมายแพ่งเขาบอกไว้อย่างนั้น หากการเกษียณอายุเป็นสิทธิของลูกจ้างย่อมหมายความว่า ลูกจ้างย่อมสละได้ในเมื่อบริษัทแม่มีระเบียบให้เกษียณอายุที่ 60 ย่อมเป็นคุณต่อลูกจ้างมากกว่า ลูกจ้างย่อมสละสิทธิในการเกษียณอายุที่ 55 แล้วเลือกที่จะเกษียณอายุที่ 60 ได้โดยชอบ นายจ้างไม่อาจคัดค้านได้ ฟังดูอย่างนี้ ข้ออ้างของลูกจ้างดูจะมีนำหนักให้รับฟังได้มากเหมือนกัน
ว่าแต่ว่า การเกษียณอายุเป็นสิทธิติดตัวลูกจ้างจริงหรือ ?
สิ่งที่ต้องพิจารณาประการแรก คือ การเกษียณอายุ คือ อะไร แท้จริงแล้ว การเกษียณอายุก็คือ การเลิกจ้างนั้นเอง เมื่อการเกษียณอายุ คือ การเลิกจ้าง การเลิกจ้างจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนายจ้างโดยเฉพาะ หาได้เป็นสิทธิของลูกจ้างอย่างที่เข้าใจแต่อย่างใดไม่ สิทธิและหน้าที่เป็นของคู่กัน เมื่อใดที่นายจ้างใช้สิทธิให้ลูกจ้างเกษียณอายุ เมื่อนั้น ลูกจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องเก็บของออกจากที่ทำงานของนายจ้าง การเกษียณอายุที่ 55 ตามระเบียบของบริษัทในเครือจึงไม่ติดตัวลูกจ้างมายังบริษัทแม่
ดังนั้น หากนายจ้างใหม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างเกษียณอายุ จึงต้องใช้ระเบียบของตนที่กำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 มาบังคับใช้กับลูกจ้างรายนี้
....................................... สมบัติ ลีกัล 5 กุมภาพันธ์ 2551