ลูกจ้างประสบอันตรายขณะเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน หรือ เดินทางจากที่ทำงานกลับบ้าน โดยหลักทั่วไป ไม่ถือเป็นการประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง หรือ ทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง ตามกฎหมายเงินทดแทน ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
ถ้าเช่นนั้น หากลูกจ้างเดินทางไปทำงาน แต่ ระหว่างทางลูกจ้างแวะตลาดซื้อของใช้ในสำนักงาน เช่น ชา กาแฟ น้ำตาล ครีมเทียม คุกกี้ เพื่อใช้รับรองแขกของนายจ้างหรือใช้เป็นสวัสดิการให้กับลูกจ้างอื่นๆของนายจ้างก็แล้วแต่ กรณีอย่างนี้ หากลูกจ้างประสบอันตรายขณะหรือหลังจากซื้อของที่ตลาดจะถือเป็นการประสบอันตรายตามกฎหมายเงินทดแทนหรือไม่ ?
การแวะตลาดซื้อของใช้ให้นายนายจ้างอาจเป็นได้ทั้งการประสบอันตรายอันเนื่องมาจากการทำงานและไม่ใช่ โดยมีหลักการพิจารณา ดังนี้
กรณีไม่ใช่ หากข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า ลูกจ้างแวะตลาดซื้อของใช้ในสำนักงานให้นายจ้างแล้วเกิดประสบอันตราย โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายจ้างเป็นผู้สั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติเช่นนั้น กรณีอย่างนี้ ลูกจ้างอาจได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรับผิดชอบงานในหน้าที่สูงเท่านั้น แต่ ไม่ถือว่าเป็นการประสบอันตรายอันเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง ทั้งที่ ความเป็นจริงการแวะตลาดก็เป็นประโยชน์แก่นายจ้างนั้นแหละ เพียงแค่นายจ้างมิได้สั่ง ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
กรณีใช่ ก็แน่นอนต้องเป็นกรณีที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างแวะตลาดซื้อของใช้ในสำนักงานนั้นเอง
ถ้าเช่นนั้น ทุกครั้งที่จะไปตลาดซื้อของให้นายจ้าง ต้องรอคำสั่งเสียก่อน หากไม่สั่งก็ไม่ไป กลัวรถชนแล้วไม่ได้เงินทดแทน
ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก กรณีนายจ้างมิได้สั่งแล้วลูกจ้างแวะตลาดซื้อของใช้ในสำนักงานถูกรถชนแล้วถือว่า เป็นการประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างก็มีเหมือนกัน แต่ ข้อเท็จจริงต้องฟังได้เพิ่มเติม ดังนี้
ข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่า ลูกจ้างต้องเข้าทำงานก่อนลูกจ้างคนอื่นพูดง่ายๆก็คือ ต้องทำงานก่อนเวลาทำงานปกติ และเหตุที่ต้องทำงานก่อนลูกจ้างอื่นก็เพราะต้องทำงานนอกสถานที่ด้วย นั้นก็คือ ต้องไปตลาดซื้อของใช้ในสำนักงาน ควรมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกว่า นายจ้างจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาเหมาจ่ายให้ด้วย จะยิ่งเป็นเหตุผลสนันสนุนให้การไปซื้อของที่ตลาดขณะเดินทางมาทำงานนั้นเป็นการทำงานตามคำสั่งนายจ้าง หากข้อเท็จจริงฟังได้อย่างนี้ แม้นายจ้างจะมิได้สั่งให้ลูกจ้างไปตลาดในวันเกิดเหตุเป็นการเฉพาะเจาะจงก็ตาม กรณีก็ถือได้ว่าการประสบอันตรายขณะไปตลาดในกรณีที่มีข้อเท็จจริงสมบูรณ์เช่นนี้ ถือเป็นการประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้างเช่นกัน ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าเงินทดแทน
............................... l,สมบัติ ลีกัล 3 เมษายน 2551