สภาพการจ้าง กับ อำนาจบริหารนั้น ถือเป็นมวยคู่เอกที่ขึ้นเวทีเมื่อใดก็ดูสนุกเมื่อนั้น เนื่องจากทั้งคู่มีหน่วยก้านพอฟัดพอเหวี่ยงฝีไม้ลายมือสูสีกัน ใครพลาดเป็นต้องถูกนับ จึงน่าดูเป็นยิ่งนัก
แล้วอะไร คือ สภาพการจ้าง ? อะไร คือ อำนาจบริหาร ?
คำว่า สภาพการจ้างมีบัญญัติไว้ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งหมายรวมถึง สวัสดิการ ประโยชน์อื่นของลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสวัสดิการหรือประโยชน์อื่นของลูกจ้างนั้นมีองค์ประกอบในการพิจารณาอย่างไร ? ส่วนคำว่าอำนาจบริหารไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายแรงงานต้องอาศัยความหมายจากพจนานุกรรม ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ ครั้นพอจะวินิจฉัยจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน
บางครั้งทั้งสภาพการจ้างและอำนาจบริหารดูใกล้เคียงกันมาก มากจนยากที่จะแยกทั้งสองออกจากกัน แต่อย่างไรเสียก็ต้องแยกให้ออก โดยอาศัยการแปลความหลักเกณฑ์ของกฎหมายเท่าที่มีประกอบข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป โดยอาศัยแนววินิจฉัยของศาลฎีกาเป็นกรณีศึกษา
มีคดีเรื่องหนึ่ง นายจ้างมีระเบียบกำหนดไว้ว่า จ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง งวดเดือนมิถุนายนครั้งหนึ่งและงวดเดือนธันวาคมอีกครั้งหนึ่ง ห้าหกปีที่ผ่านมานายจ้างจ่ายโบนัสปีละ 4.5 เท่าของเงินเดือนตลอดมา พอมาปีนี้นายจ้างจะจ่ายโบนัสลดลงโดยอ้างว่าขาดทุนหรือกำไรน้อยลงก็ตาม ก็เลยมีข้อโต้เถียงกันว่า ที่จ่าย 4.5 เท่ามาตลอดทั้งห้าหกปีนั้นถือเป็นสภาพการจ้างหรือไม่ หากใช่ นายจ้างย่อมเปลี่ยนแปลงโดยลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้ แต่หากไม่ใช่ ย่อมถือเป็นอำนาจบริหาร นายจ้างย่อมเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน
เรื่องนี้ศาลฎีกาตัดสินว่า ที่จ่ายโบนัส 4.5 เท่า มาตลอดทั้งห้าหกปีนั้น ไม่เป็นสภาพการจ้าง นั้นก็หมายความว่า เป็นอำนาจบริหารของนายจ้าง ดังนั้น นายจ้างจึงมีสิทธิจ่ายน้อยกว่าเดิมได้โดยชอบ
ข้อโต้เถียงกันเรื่องสภาพการจ้าง กับ อำนาจบริหารมีมากมาย จะนำมาเขียนให้อ่านกันในโอกาสต่อไป
................................................................. สมบัติ ลีกัล 8 พฤษภาคม 2551