เมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แล้ว และข้อเรียกร้องอยู่ระหว่างการเจรจา กฎหมายห้ามมิให้โยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง
มีคำถามว่า นายจ้างจะย้ายกะลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องได้หรือไม่ ?
สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การย้ายกะถือเป็นการโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างหรือไม่ หากใช่ นายจ้างย่อมไม่อาจกระทำได้
การย้ายกะแท้จริงแล้วลูกจ้างยังคงทำงานในหน้าที่เดิม เพียงแต่เปลี่ยนเวลาทำงานเท่านั้น การย้ายกะจึงมิใช่การโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การย้ายกะหมุนเวียนตามปกติซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
แล้วการย้ายกะกรณีไม่หมุนเวียนตามปกติ แต่ ระเบียบกำหนดให้นายจ้างมีอำนาจกระทำได้ กรณีอย่างนี้ จะถือว่าเป็นการโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ?
การย้ายกะกรณีไม่หมุนเวียนตามปกติ แต่ ระเบียบกำหนดให้นายจ้างกระทำได้นั้น คำตอบก็ยังคงอาศัยหลักการเดียวกัน คือ การย้ายกะเป็นเพียงการย้ายเวลาทำงานมิใช่ย้ายหน้าที่การงาน ดังนั้น การย้ายกะไม่ว่าจะเป็นการย้ายหมุนเวียนตามปกติหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่ถือเป็นการโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง จึงไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว
การย้ายกะกรณีไม่หมุนเวียนตามปกติ แม้เป็นอำนาจของนายจ้างที่จะกระทำได้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม แต่ นายจ้างต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า คำสั่งย้ายมีเหตุผลตามสมควร มิเช่นนั้น คำสั่งย้ายที่ชอบด้วยกฎหมายอาจเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน ตรงนี้เป็นเรื่องของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มิใช่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือ อาจเป็นเรื่องการใช้สิทธิไม่สุจริต ซึ่งก็เป็นเรื่องของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์อีกเช่นกัน
กรณีอย่างนี้ ลูกจ้างไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมและขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน
................................................ สมบัติ ลีกัล 13 สิงหาคม 2551