เมื่อเดือนที่แล้วเขียนเรื่องการเกษียณอายุ โดยบอกว่า เกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง เมื่อเป็นการเลิกจ้างจึงถือเป็นสิทธิของนายจ้าง สิทธินั้นสละได้ ดังนั้น จะเลิกหรือไม่ก็ได้
เดือนนี้จะเขียนเรื่องเกษียณอายุเหมือนเดิม แต่คราวนี้จะเอาไปผูกกับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ดูสิว่า การเลิกจ้างยังจะเป็นสิทธิของนายจ้างอีกต่อไปหรือไม่ ?
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมักเขียนทำนองว่า พนักงานจะครบเกษียณเมื่อมีอายุครบ 60 ปี โดยให้พนักงานสิ้นสุดการทำงานในวันสุดท้ายของปีหรือวันสุดท้ายของเดือนเกิด โดยพนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย
มีคำถามว่า บริษัทต้องการจ้างพนักงานผู้นั้นต่อหลังจากครบเกษียณอายุ หากพนักงานปฏิเสธ พนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ ?
โดยหลักทั่วไป เมื่อพนักงานปฏิเสธที่จะทำงานก็น่าจะถือว่าพนักงานลาออกเอง พนักงานย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย พนักงานที่ลาออกจากงานย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้นถูกต้องแล้ว ปัญหามีอยู่ว่า การปฏิเสธไม่ยอมทำงาน โดยอ้างว่า เกษียณอายุนั้น มิใช่การลาออกจากงานเองอย่างที่เข้าใจตามหลักทั่วไป หากแต่เป็นการใช้สิทธิยุติการทำงานตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดให้สิทธิพนักงานที่มีอายุครบ 60 ปี สามารถยุติการทำงานได้ โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชย
แม้หลักการเรื่องเกษียณอายุจะยังคงเดิม คือ ถือเป็นการเลิกจ้าง และถือเป็นสิทธิของนายจ้าง อาจเลิกหรือไม่ก็ได้ แต่การที่ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้พนักงานต้องสิ้นสุดการทำงานเมื่อมีอายุครบเกษียณและให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชย บัดนี้ บริษัทได้ผูกตัวเองไว้กับสิ่งที่ตนเองเขียนไปเสียแล้ว จะปฏิเสธอย่างไรได้
ดังนั้น หากพนักงานไม่ประสงค์จะทำงานต่อไป พนักงานย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามความต้องการที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนายจ้างนั้นเอง
ถ้าเช่นนั้น จะเขียนระเบียบอย่างไรให้สิทธิของนายจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป ?
....................................................... สมบัติ ลีกัล 19 ธันวาคม 2551