กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทนกรณีลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ยกเว้น การประสบอันตรายนั้นเกิดขึ้น เนื่องจาก ลูกจ้างจงใจให้ตนเองประสบอันตราย กรณีอย่างนี้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินทดแทน
อย่างไรที่เรียกว่า จงใจให้ตนเองประสบอันตราย ?
มีคดีเรื่องหนึ่ง ลูกจ้างเป็นไต้ก๋งเรือประมง มีอำนาจสั่งให้นำเรือไปจับปลาที่บริเวณใดก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร ด้วยความที่อยากได้ปลา ลูกจ้างจึงสั่งให้นำเรือเข้าไปจับปลาในน่านน้ำกัมพูชา ปรากฏว่า เที่ยวนี้โชคไม่ดี ถูกเรือไม่ปรากฏสัญชาติไล่ยิงเรือเสียหาย ไต้ก๋งเสียชีวิต
มีคำถามว่า ไต้ก๋งมีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่ ?
ฝ่ายที่เห็นว่าไม่มีสิทธิอ้างว่า การนำเรือเข้าไปจับปลาในน่านน้ำประเทศกัมพูชานั้น ถือเป็นการจงใจให้ตนเองได้รับอันตราย ทำนองว่า รู้ทั้งรู้ว่า การเข้าไปจับปลาในเขตน่านน้ำคนอื่นมันผิดกฎหมาย การถูกไล่ยิงย่อมเกิดขึ้นได้ แล้วไปทำไม เห็นไหม ตายเลย
การเข้าไปจับปลาในน่านน้ำคนอื่นนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จริงอยู่ แต่ใช่ว่าการเข้าไปจะถูกยิงเสมอไป ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า เรือที่เข้าไปบางลำก็ถูกยิง บางลำก็ไม่ถูกยิง การที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงจึงมิใช่การเล็งเห็นผลว่า การเข้าไปเช่นนี้จะต้องถูกยิงหรือน่าจะถูกยิงได้รับอันตรายโดยแน่แท้ กรณีจึงมิใช่การจงใจให้ตนเองประสบอันตราย ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทน
เอาน่า ลูกจ้างเข้าไปในน่านน้ำเพื่อนบ้านเพื่อจับปลาก็เพื่อประโยชน์ของนายจ้างนั่นเอง ปลาที่จับได้มาก็ไม่เห็นปฏิเสธ เมื่อถึงคราวเคราะห์ของลูกจ้างก็ช่วยๆกันหน่อย
…………………………………………..
สมบัติ ลีกัล 30 พฤษภาคม 2552