ย้ายงาน เป็นอำนาจของนายจ้างจะย้ายลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งใดที่ไม่ต่ำไปกว่าเดิมก็ได้ ย่อมถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรม ลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดทางวินัยอาจถูกลงโทษได้
มีปัญหาว่า การย้ายลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งอื่นที่รู้อยู่แล้วว่า ลูกจ้างไม่มีความรู้ความสามารถที่จะทำได้ ยังจะถือว่า เป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรมอีกหรือไม่ ?
คำตอบก็ยังคงเดิม คือ ยังเป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรม
รู้อยู่แล้วว่า ลูกจ้างทำไม่ได้ยังจะถือว่าเป็นธรรมอีกหรือ ?
ใช่แล้ว ทำไม่ได้ ผู้ที่ได้รับความเสียหาย คือ นายจ้าง มิใช่ลูกจ้าง หากนายจ้างประสงค์จะย้ายลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งที่ลูกจ้างทำไม่ได้ นายจ้างย่อมต้องรับความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรเสียก็ยังถือว่าเป็นคำสั่งย้ายที่ชอบและเป็นธรรม
รู้ว่าทำไม่ได้ แล้วย้ายไปทำไป อย่างนี้เป็นการแกล้งกันมิใช่หรือ ?
อาจใช่ แต่ตราบใดที่ไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า นายจ้างแกล้ง ย่อมต้องถือว่าเป็นการใช้อำนาจบริหารที่ชอบและเป็นธรรม
ดังนั้น เมื่อลูกจ้างได้รับคำสั่งย้ายงาน ในเบื้องต้น หากยังไม่แน่ใจว่า คำสั่งชอบหรือไม่ ควรย้ายตามคำสั่งเสียก่อน แล้วค่อยมาฟ้องศาลขอให้ยกเลิกคำสั่งในภายหลังอย่างนี้จะปลอดภัยกว่า หากดื้อรั้น นายจ้างอาจลงโทษทางวินัยได้ หากลูกจ้างได้รับคำสั่งแล้วไม่มาทำงานก็ถือว่า ลูกจ้างลาออกจากงานเอง
......................................... สมบัติ ลีกัล 30 ตุลาคม 2552