นายจ้างไม่พอใจลูกจ้าง เนื่องจาก ลูกจ้างเป็นแกนนำในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายจ้าง นายจ้างเลยสั่งไม่ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเสียเลย ในขณะที่ลูกจ้างรายอื่นๆได้ทำงานล่วงเวลากันครบถ้วน ลูกจ้างจึงไปร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อ้างว่า นายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรม ขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเหมือนเช่นลูกจ้างรายอื่นๆ พอนายจ้างรู้เท่านั้นแหละอารมณ์เสียทันที
ทำงานล่วงเวลาเป็นสิทธิของนายจ้าง คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีอำนาจสั่งได้อย่างไร นายจ้างกังขา ?
ทำไมจะสั่งไม่ได้ ในเมื่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 41 (4) บอกไว้ว่า กรณีคณะกรรมการฯชี้ขาดว่า เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร เห็นไหม สั่งได้ ลูกจ้างยืนยัน ?
ที่กฎหมายเขียนว่า ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควรนั้น มิได้หมายความว่า คณะกรรรมการฯอยากได้อะไรก็สั่งได้ดั่งใจนึก ขนาดอาหารตามสั่งคณะกรรมการฯยังสั่งได้แค่ผัดพริกกับผัดกระเพราะเท่านั้นนับประสาอะไรกับเรื่องนี้ คณะกรรมการฯย่อมมีข้อจำกัดในการสั่งเช่นกัน กล่าวคือ คำสั่งของคณะกรรมการฯที่ให้นายจ้างปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติใดๆนั้นต้องมีกฎหมายรองรับและต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิของนายจ้าง
การยินยอมให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลานั้นเป็นเอกสิทธิของนายจ้างที่กฎหมายให้การรับรองไว้ แม้คณะกรรมการฯจะรู้อยู่เต็มอก เห็นอยู่เต็มตาว่า นายจ้างแกล้งลูกจ้างก็ตาม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ทำได้เพียงมองตาปริบๆ ไม่อาจสั่งให้นายจ้างมอบให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้
.................. สมบัติ ลีกัล 30 มิถุนายน 2553