เมื่อเดือนที่แล้วเขียนเรื่อง ป่วย กับ สิทธิการได้รับค่าจ้าง โดย เห็นว่า ลูกจ้างที่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการลาป่วยไม่ครบถ้วน เช่น ไม่แจ้งเหตุป่วยโดยทันทีในวันที่ไม่มาทำงาน ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ป่วยนั้น ปัญหานี้ นายจ้างมักไม่ยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ เมื่อใดที่เห็นลูกจ้างลาป่วย ก็มักยกประโยชน์ให้ลูกจ้างไปไม่ว่าลูกจ้างจะปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการลาป่วยถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ก็ตาม หากนายจ้างยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ก็ไม่น่าเสียหายใดๆ หากแพ้คดีก็ไม่เป็นไร ก็กลับไปอยู่ในสภาพเดิมต่อไป แต่หากชนะคดีความประพฤติลูกจ้างก็คงจะดีขึ้น
เดือนนี้ มีคำถามว่า หากนายจ้างกำหนดระเบียบว่าด้วยการลาป่วยเพิ่มเติมนอกเหนือจากลูกจ้างต้องแจ้งเหตุป่วยในวันที่ไม่มาทำงานและต้องยื่นใบลาป่วยในวันที่กลับเข้าทำงานแล้ว ลูกจ้างยังต้องแสดงใบรับรองแพทย์เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย กรณีเช่นนี้ หากลูกจ้างไม่มีใบรับรองแพทย์ หรือมีแต่เป็นใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาลเอกชนเช่นนี้ ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยหรือไม่ ?
ปัญหาอยู่ที่ว่า ลูกจ้างปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการลาป่วยไม่ครบถ้วน เนื่องจาก ลูกจ้างไม่มีใบรับรองแพทย์หรือมีแต่เป็นใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบ กรณีเช่นนี้ จะตอบว่า ลูกจ้างปฏิบัติตามระเบียบการลาป่วยไม่ครบถ้วน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย เหมือนคำตอบในเดือนที่แล้วหรือไม่ ?
คำตอบเรื่องนี้ไม่เหมือนเดือนที่แล้ว เนื่องจาก ระเบียบของนายจ้างที่กำหนดให้ลูกจ้างต้องแสดงใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย ขัดกับหลักกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กล่าวคือ กฎหมายมิได้กำหนดให้ลูกจ้างต้องยื่นใบรับรองแพทย์ประกอบการลาป่วยไม่ว่าลูกจ้างจะลาป่วยกี่วันก็ตาม กฎหมายให้สิทธินายจ้างเพียงเรียกหาใบรับรองแพทย์จากลูกจ้าง กรณีลูกจ้างลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไปได้เท่านั้น แม้นายจ้างจะมีสิทธิเรียกหาใบรับรองแพทย์ได้ก็ตาม กฎหมายก็มิได้บังคับว่า ลูกจ้างต้องแสดงใบรับรองแพทย์เสมอไป หากลูกจ้างไม่มีใบรับรองแพทย์เพียงแค่ชี้แจงให้นายจ้างทราบก็ถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่นายจ้างนำเรื่องใบรับรองแพทย์มาเป็นเงื่อนไขการจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยย่อมทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย ระเบียบของนายจ้างในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกจ้างป่วยจริง และปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการลาป่วยในส่วนอื่นครบถ้วนแล้ว แม้ลูกจ้างไม่มีใบรับรองแพทย์หรือมีแต่ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขของนายจ้าง ลูกจ้างก็ยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยดังกล่าว
.สมบัติ ลีกัล 6 กันยายน 2550