เงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างอันเนื่องมาจากสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้าง เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส บำเหน็จ หรือเงินอื่นๆก็ตาม กฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้ง ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ของมาตรา 50 (1) แล้วนำส่งกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินดังกล่าวออกไป ลำพังเพียงเงินใดบ้างที่ถือเป็นเงินได้อันเนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้หรือไม่ ก็มีความยุ่งยากมากแล้ว ประกอบกับวิธีการหักก็ยุ่งยากไม่แพ้กัน จึงเป็นไปได้ที่นายจ้างจะมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ หรือหักไว้แต่ไม่ถูกต้อง หากเป็นเช่นนี้ กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องรับผิดจ่ายเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายพร้อมด้วยเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อนายจ้างชำระเงินภาษีเงินได้ย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้กรมสรรพากรไปแล้ว นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ยเอาคืนจากลูกจ้างได้หรือไม่ ?
กรณีนี้เป็นเรื่องน่าเห็นใจลูกจ้าง เนื่องจากมิได้มีหน้าที่ในการหักภาษีดังกล่าว แม้ลูกจ้างไม่มีหน้าที่หักภาษีก็ตาม แต่การเสียภาษียังคงเป็นหน้าที่ของลูกจ้าง ลูกจ้างจึงอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับนายจ้างต้องชำระเงินภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่มให้กรมสรรพากร ในส่วนของเงินภาษีเงินได้นั้นเมื่อนายจ้างได้ชำระภาษีเงินได้ย้อนหลังให้กรมสรรพากรไปแล้ว นายจ้างย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยให้ลูกจ้างชำระเงินดังกล่าวคืนได้โดยชอบ และมีสิทธิหักค่าจ้างที่ต้องชำระให้ลูกจ้างเพื่อชำระหนี้เงินภาษีเงินได้ที่จ่ายได้โดยชอบอีกเช่นกัน แต่ในส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่นายจ้างต้องจ่ายไปนั้น นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ยให้ลูกจ้างต้องรับผิดได้หรือไม่ เพียงใดนั้น เห็นว่า เหตุที่ลูกจ้างต้องรับผิดในเบี้ยปรับและเงินเพิ่มนั้นเป็นเพราะนายจ้างมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างครบถ้วน การกระทำของนายจ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกจ้าง ย่อมเป็นละเมิด นายจ้างต้องรับผิดในความเสียหายต่อลูกจ้าง หากเรื่องนี้ ลูกจ้างเป็นผู้ชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้กรมสรรพากรเสียเอง ลูกจ้างย่อมมีสิทธิเรียกให้นายจ้างรับผิดในเงินดังกล่าวได้ในฐานะค่าเสียหาย กรณีนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวเสียเอง นายจ้างย่อมไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้ลูกจ้างรับผิดในเงินดังกล่าวได้
.......................................สมบัติ ลีกัล 8 ตุลาคม 2550