เมื่อลูกจ้างไปพบพนักงานตรวจแรงงานแล้วเขียนคำร้อง อ้างว่า นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้า ขอให้จ่ายเงินทั้งสองรายการดังกล่าว พนักงานตรวจแรงงานจึงได้เรียกนายจ้างมาสอบข้อเท็จจริง สอบแล้ว เห็นว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจึงออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในคำสั่งมิได้กล่าวถึงแต่อย่างใด ก็เลยไม่รู้ว่าลูกจ้างมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิ สงสัยพนักงานตรวจแรงงานจะลืมสั่ง ไม่ว่าจะลืมหรือตั้งใจไม่สั่งก็ตามแต่ คำสั่งอย่างนี้ ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของลูกจ้างในเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือไม่ ?
มีคำถามว่า ลูกจ้างจะต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึงเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือไม่ ?
เรื่องนี้กฎหมายกำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานตรวจแรงงาน เห็นว่า ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงิน ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งและแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างและลูกจ้างทราบ เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งแล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง ไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง การนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น ก็คือ การขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบนั้นเสีย เพื่อมิให้ตนเองไม่ต้องผูกพันและได้รับความเสียหายอันเนื่องจากคำสั่งที่ไม่ชอบดังกล่าว ในกรณีของลูกจ้าง การสั่งว่า ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินย่อมเท่ากับเป็นการโต้แย้งสิทธิของลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างเห็นว่า ตนเองมีสิทธิได้รับเงิน อย่างนี้จำเป็นที่ลูกจ้างต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป แต่ กรณีพนักงานตรวจแรงงานไม่ได้ออกคำสั่ง เรื่อง เงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เป็นกรณีที่ไม่มีคำสั่งใดที่จะให้ศาลเพิกถอนได้ ดังนั้น ลูกจ้างจึงไม่จำเป็นต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งแต่อย่างใด
เมื่อลูกจ้างไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งแล้ว กรณีเช่นนั้น ลูกจ้างจะเสียสิทธิในเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ แล้วอย่างนี้ พนักงานตรวจแรงงานจะไม่ลืมสั่งบ่อยๆหรือ เสียหรือไม่เสีย จะลืมบ่อยหรือไม่บ่อย จะเขียนให้ท่านอ่านในโอกาสต่อไป
............................................... สมบัติ ลีกัล 1 พฤศจิกายน 2550