ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า ทุจริต เสียก่อนว่ามีความหมายอย่างไร คำว่า ทุจริตในกฎหมายแรงงานนั้น ความหมายที่เข้าใจง่าย คือ การโกงนั้นเอง
มีคดีเรื่องหนึ่ง ลูกจ้างมีหน้าที่ลงบัญชีรายรับรายจ่ายของนายจ้าง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เงินของนายจ้างสูญหายไป 80,000 บาท จับมือใครดมไม่ได้ ลูกจ้างจึงนำเงินจำนวนนี้ไปลงบัญชีเป็นรายจ่ายของนายจ้าง ก็คือ แต่งบัญชีนั้นเอง
ปัญหามีอยู่ว่า การนำเงินที่หายไปลงบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริงเช่นนี้ ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ ?
บุคคลทั่วไปคงรู้เรื่องบัญชีเพียงว่า การลงบัญชีก็มักจะลงเป็นคู่ เช่น บัญชีเจ้าหนี้คู่กับบัญชีลูกหนี้ บัญชีทรัพย์สินคู่กับบัญชีหนี้สิน บัญชีรายรับคู่กับบัญชีรายจ่าย อะไรทำนองนี้ เมื่อรู้เพียงแค่นี้ก็อดถามไม่ได้ว่า จะลงบัญชีอย่างไรกับเงิน 80,000 บาทที่สูญหายไป เมื่อพิจารณาประเภทบัญชีต่างๆดูแล้วก็มีบัญชีรายจ่ายนี้แหละที่ใกล้เคียงมากที่สุดที่น่าจะนำเงินจำนวนนี้ไปลงไว้ หากหาที่ลงไม่ได้ตัวเลขรายรับหักรายจ่ายแล้ว ยอดคงเหลือคงไม่สมดุลกัน คงจะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ลูกจ้างจึงนำเงินจำนวนนี้ไปลงในบัญชีรายจ่ายเสียเลยตัวเลขในบัญชีจะได้สมดุลกัน การลงบัญชีอย่างนี้ เป็นการลงอย่างเปิดเผย มองอย่างคนไม่รู้บัญชี ไหนๆเงินก็หายไปแล้ว การลงบัญชีไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แม้จะเป็นการแต่งบัญชี นายจ้างมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย นายจ้างก็น่าจะได้รับประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อยที่ตัวเลขในบัญชีตรงกัน หรือไม่ได้ประโยชน์เลยก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร การกระทำของลูกจ้างที่ลงบัญชีไม่ตรงความจริง หากจะเป็นความผิดก็ไม่น่าร้ายแรงอะไร
เรื่องนี้ศาลฎีกาตัดสินว่า ลูกจ้างลงบัญชีไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง เป็นการแต่งบัญชี ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ก็คือ โกงนั้นแหละ แถมประพฤติชั่วให้อีกกระทงหนึ่งด้วย
ในสำนวนคดีคงมีข้อเท็จจริงอื่นๆอีกมากที่ชวนให้ศาลตัดสินเช่นนั้น บุคคลทั่วไปคงไม่ทราบ อย่างไรเสียคดีเรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับบุคคลในแวดวงแรงงานได้ศึกษาเรียนรู้กันว่า ต่อไปอย่าแต่บัญชี
................................. สมบัติ ลีกัล 1 พฤศจิกายน 2550